TT ปรับแผน IPO "สเตรกา"เป็นขายหุ้นเพิ่มทุน-ขายหุ้นที่ถือโดย TT

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 14, 2016 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TT) ปรับแผนการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) หุ้นบมจ.สเตรกา จำกัด ซึ่งทำธุรกิจรับเหมาวางท่อใต้ดิน โดยระบบเจาะในแนวราบใต้พื้นดิน และเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยจะเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นที่ถือโดยบริษัท รวมจำนวน 559-633 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับประชาชนทั่วไป และผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทลดสัดส่วนการถือหุ้นในสเตรกาเหลือ 61.58-63.16% จากเดิม 84.21%

ทั้งนี้ TT แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ อนุมัติการเปลี่ยนแปลงแผนการนำ บมจ.สเตรกา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการนั้น ประกอบกับโครงสร้างการถือหุ้นของสเตรกาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากจากคราวที่ได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นไว้ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงตามแผนใหม่ดังนี้

ตามแผนใหม่ สเตรกา จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 190 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1.9 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.10 บาท โดยการขายหุ้น IPO จะมีจำนวนรวม 559-633 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.10 บาท แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุนใหม่ 335-633 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมที่ถือโดย TT จำนวน 0-224 ล้านหุ้น เสนอขายต่อประชาชน จำนวน 419-475 ล้านหุ้น หรือราว 75% ของ IPO และเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของ TT จำนวน 140-158 ล้านหุ้น หรือราว 25% ของ IPO

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่ในเรื่องของมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ขั้นต่ำ ของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ดังนั้น หากเกณฑ์ใหม่กำหนดขึ้นก่อนที่จะขาย IPO ที่ประชุมคณะกรรมการจึงมีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ TT ให้พิจารณาการมอบอำนาจให้คณะกรรมการของบริษัทเป็นผู้พิจารณากำหนดจำนวนหุ้นเดิมของเสตรกาที่ TT จะนำมาขายให้เป็นไปตามเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ในเรื่องของราคาพาร์ขั้นต่ำตามที่จะเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงจะอยู่ในกรอบของมูลค่าตามแผนใหม่ดังกล่าว

ภายหลังจากการขายหุ้น IPO ของเสตรกา จะทำให้ TT ลดสัดส่วนการถือหุ้นในสเตรกา เหลือระหว่าง 61.58-63.16% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วภายหลังการขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปแล้วเสร็จ จากเดิมที่ 84.21%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ