บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จะใช้เงินลงทุนราว 650 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้น 40% ในบริษัท อะแวนติ โฟรเซ่น ฟู้ดส์ ไพรเวท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกุ้งแช่แข็งในอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในเดือนเม.ย.นี้ การลงทุนดังกล่าวจะช่วยขยายช่องทางการผลิตไปยังอินเดีย และทดแทนการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งในประเทศไทย เนื่องจากโรคตายด่วนของกุ้ง (EMS)
TU แจ้งว่าบริษัทจะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้น 40% ในบริษัท อะแวนติ โฟรเซ่น ฟู้ดส์ ไพรเวท จำกัด จากผู้ถือหุ้นเดิม คิดเป็นมูลค่า 1,254.1 ล้านรูปี หรือราว 650 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนภายในของบริษัท
สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน เพื่อเป็นการขยายช่องทางการผลิตไปยังอินเดีย โดยการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสินค้ากุ้ง และเพื่อทดแทนการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งในประเทศไทย เนื่องจากโรค EMS (Early Mortality Syndrome)ซึ่งแม้ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในปี 58 แต่ผลผลิตยังคงลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 56 ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจที่มีอยู่ของกลุ่มไทยยูเนี่ยนด้วย
วัตถุประสงค์หลักของการลงทุนในครั้งนี้เพื่อกระจายแหล่งจัดหาวัตถุดิบกุ้งและฐานการผลิตของกลุ่มบริษัท รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยชดเชยการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตในประเทศไทย โดย ณ ตอนนี้การเลี้ยงกุ้งในประเทศอินเดีย ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคร้ายแรง อย่างเช่น โรคกุ้งตายด่วน (EMS)
บริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ จำกัด หรือ AFFPL ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 58 โดยมี บริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด (Avanti Feeds Limited) เป็นบริษัทแม่ เพื่อดำเนินการแปรรูปกุ้งในประเทศอินเดียสำหรับส่งออกตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการแปรรูปกุ้งของบริษัทแม่ ซึ่งคือ บริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด (Avanti Feeds Limited) และในขณะเดียวกัน บริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ จำกัด กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่เยอร์ราวาราม (Yerravaram) ในอำเภออีสต์โกดาวารี (East Godavari) ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานแปรรูปกุ้งในปัจจุบันที่เมืองโกปาลาปุรำ (Gopalapuram) ในรัฐอานธรประเทศ (Andra Pradesh) ราว 80 กิโลเมตร
สำหรับโรงงานในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 25 ตันต่อวัน และส่วนโรงงานแห่งใหม่จะมีกำลังการผลิตอีก 50 ตันต่อวัน ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 75 ตันต่อวัน
จากผลกำไรในการดำเนินงานและฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ทำให้บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ทันทีในปีแรก ปัจจุบัน ทางโรงงานมีจำนวนพนักงาน 750 คน แต่เมื่อโรงงานแห่งใหม่สร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการ จะมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 2,250 คน สำหรับตลาดธุรกิจการแปรรูปกุ้งของโรงงานในตอนนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นที่ตลาดส่งออก อาทิ สหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ๆ ในทวีปยุโรป และญี่ปุ่น
ส่วนลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของตลาด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างผลิตตามสัญญาการผลิต (contract manufacturing) หรือรับจ้างผลิตจากเจ้าของสินค้าเอง (OEM) อย่างไรก็ดี ประเทศจีนกำลังจะกลายมาเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลมากกว่าเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลดังเช่นแต่ก่อน อีกทั้งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพแข็งแกร่งในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ จากการที่เศรษฐกิจในอินเดียมีการเติบโตและมีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ทำให้การร่วมทุนในครั้งนี้พร้อมที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคกุ้งที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในตลาดอินเดีย
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า อะแวนติฟีดส์ ถือเป็นคู่ค้าระยะยาวของไทยยูเนี่ยนในประเทศอินเดีย ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอดและมีสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งของอะแวนติทำให้ผลการดำเนินการทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดีมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
"การที่อินเดียกำลังจะกลายมาเป็นฐานการแปรรูปกุ้งสำหรับตลาดส่งออกและอาจกลายเป็นตลาดอาหารทะเลที่สำคัญในอนาคตนั้น ทำให้ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศอินเดีย โดยหวังว่าการลงุทนในครั้งนี้ จะเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนต่อๆ ไป หากมีโอกาสการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจในอินเดีย"นายธีรพงศ์ กล่าว
นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจกุ้ง TU กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายการแปรรูปกุ้งของเราไปยังประเทศอินเดีย เพื่อกระจายแหล่งจัดหาวัตถุดิบกุ้งและฐานการผลิตของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อช่วยรองรับความต้องการสินค้าแปรรูปกุ้งของบริษัทเราที่สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งกำลังการผลิตของอะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ จะช่วยชดเชยการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศในปัจจุบันได้ เพราะภาคการเลี้ยงกุ้งของอินเดียยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคร้ายแรง เช่น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome หรือ EMS) อย่างเช่นในประเทศไทย จีน และเวียดนาม
"ผมมีความมั่นใจอย่างมากเกี่ยวกับการลงทุนในครั้งนี้ เราเชื่อว่าการเป็นหุ้นส่วนร่วมกับ อะแวนติฟีดส์ จะทำให้เราเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในธุรกิจอาหารทะเลในประเทศอินเดีย"นายฤทธิรงค์ กล่าว