TPIPL เผย IFA ประเมินมูลค่ายุติธรรมของ"ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์"3.16-4.67 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 8, 2016 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) เปิดเผยรายงานความเห็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ คือ บริษัท เจวีเอส ที่ปรึกษาทางการเงิน จำกัด โดยเห็นว่าผู้ถือหุ้นของ TPIPL ควรอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชานทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และแผนการนำ TPIPP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากจะช่วยลดภาระการลงทุนและการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมจากบริษัท และมีการแยกโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับมูลค่ายุติธรรม โดยวิธีที่เหมาะสมในการประเมินมูลค่าของ TPIPP ในครั้งนี้ คือ วิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow Approach:DCF) ซึ่งจะได้ราคาหุ้น TPIPP อยู่ระหว่างประมาณ 31,637-46,672 ล้านบาท ส่วนวิธีเปรียบเทียบตลาด (Market Comparable Approach) ทั้งวิธีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value Approach) และวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio Approach) เพื่อการเปรียบเทียบจะมีมูลค่าประมาณ 16,000-35,000 ล้านบาท

ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่า มูลค่าขั้นต่ำในการระดมทุนในการออก IPO ที่จะชดเชย dilution เพื่อประกอบการพิจารณาในครั้งนี้ประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท ซึ่งประมาณจากการประเมินด้วยวิธี DCF (ใช้ราคาต่ำสุด) และวิธีเปรียบเทียบตลาด (ใช้ราคาสูงสุด) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาในการเสนอขายหุ้น IPO ของ TPIPP ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/59 ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น สภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ และการได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านราคาที่จะถูกกำหนดเพื่อการเสนอขายจริง ผลการดำเนินงานของ TPIPP ในปี 59 ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าทางบัญชี และกำไรของ TPIPP และปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปรียบเทียบราคาตลาดจากบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน สภาวะการลงทุนในขณะนั้น ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ จึงมีความเห็นว่า จากความไม่แน่นอนที่มีค่อนข้างมาก มูลค่าของ TPIPP ที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อประกอบการพิจารณาในครั้งนี้ จึงอาจเปลี่ยนแปลงและควรถูกกำหนดขึ้นอีกครั้งในช่วงระยะเวลาดำเนินการ IPO

อย่างไรก็ตาม มูลค่ายุติธรรมของรายการ โดยที่ราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TPIPP ให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยที่จะกำหนดในลักษณะ Book Building Process หรือวิธีกำหนดราคาโดยวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่าการกำหนดราคาโดยวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสม เพราะเกิดจากการสำรวจความต้องการของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีการวิเคราะห์พื้นฐานของ TPIPP และผลการดำเนินงานของ TPIPP ที่ผ่านมาและในอนาคต ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดเงินและตลาดทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ TPIPL มีแผนจะนำหุ้น TPIPP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 30% ของทุนจดทะเบียน และจะให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนในการจองซื้อหุ้น IPO ของ TPIPP ตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท โดยกำหนดสัดส่วนของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TPIPP ที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วนไม่เกิน 5% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TPIPP

ขณะที่ TPIPP เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ โดยการผลิตไฟฟ้าจะใช้พลังงานความร้อนทิ้งจากการผลิตปูนซีเมนต์ของ TPIPL เพื่อผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งกำลังการผลิตโรงละ 20 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ 1 โรง รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนทิ้ง 70 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนที่ได้จากขยะ (Refused Derive Fuel:RDF) จำนวน 2 โรง กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และ 60 เมกะวัตต์ โดยเริ่มขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Non-Firm ปริมาณไฟฟ้า 18 เมกะวัตต์ และ 55 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนม.ค.58 และส.ค.58

ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื่อเพลิง RDF จำนวน 70 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 59 และจะนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ร่วมกับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้แก่กฟผ.ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า Non-Firm ปริมาณไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 1/60 ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Non-Firm ทุกสัญญาได้รับอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าปกติอีก 3.50 บาท/หน่วยเป็นเวลา 7 ปี

ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจสถานีให้บริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 11 สถานีบริการน้ำมัน และ 4 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ สำหรับการระดมทุนดังกล่าวเพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจ ใช้ชำระหนี้หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ