บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) แจงความจำเป็นต้องเพิ่มทุนทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มทุนกว่าเท่าตัวของทุนชำระแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากจะใช้รองรับการลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพ ซึ่งมีลักษณะของธุรกิจระยะยาวเพื่อสร้างรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอจึงควรใช้เงินทุนระยะยาวที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย จึงได้เลือกแนวทางการเพิ่มทุน โดยอยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาความเป็นไปได้การเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มธุรกิจพลังงานประเภทโรงไฟฟ้า และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้อาจต้องใช้เงินทุนภายใน 3 เดือนนี้ ขณะที่เงินเพิ่มทุนเดิมที่คงเหลืออยู่ 839 ล้านบาทนั้นก็จะถูกนำมาใช้รวมกับการรองรับการลงทุนใหม่ในครั้งนี้ด้วย
MAX ชี้แจงเรื่องดังกล่าวหลังตลาดหลักทรัพย์ฯเรียกให้ชี้แจงในประเด็นความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นที่บริษัทต้องเพิ่มทุนอีก 20,328 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มทุนกว่าเท่าตัวจากทุนชำระแล้วในปัจจุบันที่ 19,834 ล้านบาท ขณะที่ยังมีเงินเพิ่มทุนคงเหลือ 839 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาทางบริษัทมีผลประกอบการที่ขาดทุนมาโดยตลอดไม่ได้ขยายการลงทุน หรือทำธุรกิจเพิ่มทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจอื่นที่จะเพิ่มรายได้และกำไรให้กับบริษัท ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดทิศทางให้ทางบริษัทเริ่มที่จะหาธุรกิจหรือลงทุนในธุรกิจอื่น
โดยที่ประชุมได้มีความเห็นว่า ในอนาคตบริษัทนอกจากจะขยายตัวของธุรกิจเดิมของบริษัทให้มากขึ้นแล้วยังจะขยายตัวไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายฐานรายได้ของบริษัทแล้วยังเป็นการกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้นด้วย โดยจะเป็นลักษณะลงทุนหรือร่วมลงทุนในหลักทรัพย์หรือในกิจการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะเจริญเติบโตและมีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูง ดังนั้น บริษัทจึงมีความต้องการที่จะใช้เงินทุนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
เมื่อพิจารณาการใช้เงินทุนทั้งหมดของบริษัทแล้ว คณะกรรมการและผู้บริหารเห็นว่าส่วนใหญ่โครงการดังกล่าวจะเป็นการลงทุนในลักษณะธุรกิจระยะยาวเกือบทั้งหมด โดยเน้นธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอระยะยาวก่อนเบื้องต้นเพื่อให้บริษัทมีรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น แหล่งเงินทุนที่ใช้ก็ควรใช้เงินทุนระยะยาวเช่นกัน ซึ่งแนวทางที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเพิ่มทุนจะมีความเหมาะสม บริษัทก็จะได้ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน และการขอสินเชื่อระยะยาวก็กระทำได้ยากในปัจจุบันด้วย
ปัจจุบันทางบริษัทจึงอยู่ในระหว่างเจรจาและศึกษาความเป็นได้อยู่ในการเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เช่น กลุ่มพลังงานประเภทโรงไฟฟ้า และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประเภทรายได้คงที่ เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องใช้เงินทุนภายในระยะเวลาภายใน 3 เดือนนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันภายหลังที่ต้องสำรองเงินทุนบางส่วนในการดำเนินธุรกิจเหล็กแล้ว ปรากฎว่าเงินทุนของบริษัทที่มีอยู่มีไม่เพียงพอกับการลงทุนดังกล่าว ดังนั้น ทางคณะกรรมการจึงได้มีมติในการเพิ่มทุนในครั้งนี้
สำหรับรายละเอียดในการลงทุนในธุรกิจตลอดจนชื่อโครงการทางบริษัทจึงยังไม่สามารถที่จะบอกรายละเอียดดังกล่าวได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่เป็นความลับทางธุรกิจการค้าอยู่ สำหรับเครื่องมือในการเพิ่มทุนก็จะสอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลา บริษัทก็จะพิจารณาจัดสรรก็ต่อเมื่อทางบริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อไม่ให้เป็นภาระสำหรับผู้ถือหุ้นและหากต้องการใช้เงินระยะสั้นและมีความคล่องตัวมาก ทางบริษัทก็ได้กำหนดเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ไว้ โดยบริษัทกำหนดเพิ่มทุนให้นักลงทุนเท่ากับราคาตลาดเพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ส่วนแผนการใช้เงินเพิ่มทุนเดิมที่ยังเหลืออยู่ 839 ล้านบาท ก็จะถูกนำมาใช้รวมกับการเพิ่มทุนใหม่ในครั้งนี้ด้วย โดยวัตถุประสงค์ในการลงทุนเรียงลำดับตามระยะเวลาในการระดมทุน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) งบลงทุนราว 2.3-2.5 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินเพิ่นทุนเดิมคงเหลือ 639 ล้านบาท และเงินเพิ่มทุนใหม่จากการเสนอขาย PP จำนวน 1.8 พันล้านบาท โดยจะใช้เงินในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ , โครงการอสังหาริมทรัพย์ งบลงทุน 650-950 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม มูลค่า 300 ล้านบาท จะมาจากเงินเพิ่มทุนใหม่ที่ออกหุ้นเพิ่มทุนใช้รองรับการแปลงสภาพและการใช้สิทธิของใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ หรือ TSR (MAX-T1) จำนวน 1.03 พันล้านบาท โดยจะใช้เงินในช่วงไตรมาส 4/59 ถึงไตรมาส 1/60 การใช้เงินเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการโรงไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งใช้ชำระหนี้หากในระหว่างการขยายธุรกิจบริษัทมีการกู้ยืมเงิน คิดเป็นมูลค่า 833 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินเพิ่มทุนใหม่ที่ออกหุ้นเพิ่มทุนใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 2 (MAX-W2) จำนวน 833 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3/60
การใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจเหล็ก 69 ล้านบาท และโครงการพลังงานทดแทนและบริหารจัดการขยะมูลฝอย 131 ล้านบาท จะมาจากเงินเพิ่มทุนเดิมคงเหลือ 200 ล้านบาท ซึ่งการใช้เงินนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ
บริษัทระบุว่าการใช้เงินจากการเพิ่มทุนให้ PP ในเบื้องต้นจะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 1-3 โรง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 120-240 เมกะวัตต์ โดยการลงทุนจะเป็นการเข้าร่วมถือหุ้นหรือร่วมลงทุน ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นจะขึ้นกับการเจรจา ตลอดจนราคาต่อหุ้นและความสำเร็จในการระดมทุนจาก PP โดยปัจจุบันดังกล่าวบางโรงได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว และบางโรงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ค.59
สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นคอนโดมิเนียมเพื่อขายนั้น ปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 70-80% มียอดขายแล้ว 40-50% อยู่บนที่ดิน 5 ไร่ โดยมีรายได้จากการขายประมาณ 370 ล้านบาท น่าจะสร้างเสร็จและรับรู้รายได้ได้ภายในปี 59
อย่างไรก็ตามผลกระทบกรณีที่บริษัทไม่สามารถระดมทุนได้ ทางบริษัทก็จะขาดการรับรู้รายได้ประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาท/ปี ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า แต่บริษัทก็จะนำเงินเพิ่มทุนส่วนที่เหลือนำมาลงทุนในทางเลือกที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเป็นหลัก
บริษัทระบุอีกว่า สำหรับการลดทุนจดทะเบียนจาก 4.53 หมื่นล้านบาท เป็น 2.27 พันล้านบาท โดยการลดพาร์ จากมูลค่าหุ้นละ 1 บาท เป็น 0.05 บาท ซึ่งเป็นการลดทุนเกินกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดนั้น คณะกรรมการต้องการลดทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการล้างขาดทุนสะสมให้หมด เมื่อธุรกิจของบริษัทมีการลงทุนเพิ่ม แล้วหากมีกำไรก็จะสามารถจ่ายปันผลได้ ดังนั้น เมื่อ ดำเนินกระบวนการการลดทุนเรียบร้อยภายในไตรมาส 1/60 แล้ว บริษัทก็จะพิจารณาเสนอการรวมพาร์ เพื่อให้บริษัทมีพาร์ขั้นต่ำที่สอดรับกับกฎเกณฑ์ และนโยบายของ หน่วยงานทางการเหมือนกับบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาการรวมพาร์ ในการประชุม สามัญผู้ถือหุ้นครั้งถัดไปหลังการลดทุนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จะไม่เกินการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560
นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ MAX กล่าวว่า โครงการที่บริษัทกำลังเจรจาอยู่ เพื่อกระจายฐานรายได้ และสร้างให้มีกำไรอย่างสม่ำเสมอนั้นเป็นโครงการโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 1-3 โรง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละไม่เกิน 120 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ ประมาณ 5 พันล้านบาท ถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการประเมินมูลค่ากิจการสุทธิ (Equity Value) เบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณโรงละ 2 พันล้านบาท
แต่หากไม่สามารถระดมทุนได้ นอกจากบริษัทจะขาดการรับรู้รายได้ดังกล่าวแล้ว ยังจะขาดการรับรู้กำไรอีก 150-200 ล้านบาท/ปี แต่บริษัทก็จะนำเงินเพิ่มทุนส่วนที่เหลือมาลงทุนในทางเลือกที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะใช้สำหรับทำโครงการโรงไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งจะสามารถทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น 40-50 ล้านบาท/ปี