บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ อนุมัติให้บริษัทและบริษัทย่อยลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร โดยการเข้าเป็นผู้สนับสนุนโครงการภายใต้ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว รวม 2 แห่ง ขนาดกำลังผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ (MW) ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 425 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 5 MW ในพื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรเมืองสระแก้ว จำกัด โครงการตั้งอยู่ที่ ต.บ้านแก้ง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 212.5 ล้านบาท และให้บริษัท พีเอสที เอนเนอร์ยี 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 5 MW ในพื้นที่ของสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด โครงการตั้งอยู่ที่ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 212.5 ล้านบาท
ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และอยู่ระหว่างรอการตอบรับในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากกฟภ. ซึ่งโครงการมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 25 ปีนับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งตามกำหนดจะต้อง COD ภายในวันที่ 30 ธ.ค.59 โดยคาดว่าโครงการที่สระแก้วจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ 10.84% และโครงการที่สมุทรสงคราม จะมี IRR ที่ระดับ 10.52%
สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดหรือเงินทุนหมุนเวียน หรือเงินกู้ยืม โดยการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแผนและกลยุทธ์ในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือก โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ทำให้บริษัทมีรายได้คงที่ ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ก่อให้เกิดศักยภาพให้กับบริษัทในอนาคต
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติการออกและเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้นในรูปแบบของตั๋วแลกเงิน (B/E) ภายใต้วงเงิน ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ไม่เกิน 500 ล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วันนับจากวันที่ออก เสนอขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) หรือผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ หรือต่างประเทศ โดยอาจแบ่งขายเป็นรุ่นเดียวหรือหลายรุ่น เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจ และชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบ
รวมถึงจะเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 เพื่อพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้น และ/หรือระยะยาวในรูปแบบของตั่วแลกเงิน (B/E) หรือหุ้นกู้ ภายใต้วงเงินรวมไม่เกิน 1,500 ล้านบาท อายุตามที่จะกำหนดในแต่ละคราว ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดในขณะที่ออก เสนอขายให้กับ PP หรือผู้ลงทุนสถาบัน หรือรายใหญ่ ทั้งในหรือต่างประเทศ เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจ เพื่อใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ และ/หรือตั๋วแลกเงินระยะสั้นที่ครบกำหนดไถ่ถอน ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืม รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ทั้งนี้ กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 30 ส.ค.59 เพื่อพิจารณาการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว และการออกและเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้น และ/หรือระยะยาว ในรูปแบบของตั๋วแลกเงิน หรือหุ้นกู้ ภายใต้วงเงินรวมไม่เกิน 1,500 ล้านบาท
นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSTC กล่าวว่า บริษัททำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวม 2,000 ล้านบาท เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปรุกขยายพอร์ตธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งภาคพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2 โครงการ รวมเงินลงทุน 425 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 5 MW ในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรเมืองสระแก้ว จำกัด และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ในจังหวัดสมุทรสงคราม กำลังการผลิต 5 MW
“เรามีแผนรุกโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกครั้งใหญ่ จึงต้องการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงิน รองรับแผนการรุกขยายธุรกิจ ที่ให้ความสนใจลงทุนทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส จึงได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 ส.ค.59 นี้เพื่อขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น"นายพระนาย กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSTC กล่าวว่า จากแผนงานการรุกธุรกิจครั้งใหญ่ในครั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายต้องการขยายธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกทุกรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพ โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยตั้งเป้า 3 ปี หรือภายในปี 61 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 100 MW จากปัจจุบันที่มีอยู่ 45.3 MW และทำรายได้จากการขายไฟฟ้ามากกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะที่ขนาดสินทรัพย์ก็มีอัตราเติบโตโดดเด่นเช่นกัน โดยสิ้นปี 59 จะมีสินทรัพย์รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาทภายในปี 60
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass) จำนวน 1 โรง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 12,600,000 หุ้น หรือ คิดเป็น 45% ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นเงินจำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนใน เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี เพิ่มเป็น 100% จากเดิมมีสัดส่วนถือหุ้น 55% โดยโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งนี้ ใช้เปลือกไม้เศษไม้และพืชพลังงานเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 8 MW ที่ได้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้ากับกฟภ. เชิงพาณิชย์แล้ว และบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการขอเปลี่ยนการขายไฟในรูปแบบ Adder ไปเป็น Feed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดในอัตราขายไฟอยู่ที่ 4.54 บาท/หน่วย
บริษัทยังได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทโรงไฟฟ้าสระยายโสม จำกัด ผู้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพจากน้ำเสีย (Biogas) กับ กฟภ. จำนวน 4.6 MW ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสัญญาซื้อขายไฟดังกล่าวจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนมิ.ย.60 จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 10,000 หุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 110 ล้านบาท พร้อมดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ กฟภ. ตามสัญญา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีก 277 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งโครงการ 387 ล้านบาท