นางสาวทมยันตี คงพูลศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสำนักนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.อินทัชโฮลดิ้งส์ (INTUCH) กล่าวว่า การที่ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) จะเข้าซื้อหุ้น INTUCH จาก บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด (แอสเพน) ในสัดส่วน 21% นั้นเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ถือหุ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท และจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการบริหาร รวมถึงไม่มีความจำเป็นต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นด้วย เนื่องจาก Singtel เข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่ถึง 25%
"ที่ผ่านมา Singtel ก็ถือว่าเป็นพาทเนอร์กับ INTUCH อยู่แล้ว ซึ่งการเข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ก็น่าจะมีอะไรดีขึ้น แต่ขณะนี้อำนาจในการบริหารต่าง ๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยมองว่ากระบวนการซื้อขายทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นได้ในสิ้นปีนี้"นางสาวทมยันตี กล่าว
เมื่อช่วงบ่าย INTUCH แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่าข้อมูลตามที่ Singtel ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในวันที่ 18 ส.ค.59 ว่าได้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นของบริษัทแบบมีเงื่อนไขจากแอสเพน ในสัดส่วน 21% ของทุนชำระแล้วของบริษัทในราคา 60.83 บาทต่อหุ้น แต่การทำรายการดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อน ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Singtel และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คาดว่ารายการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.59
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการในกรณีดังกล่าวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแต่อย่างใด
นางสาวทมยันตี กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 59 คาดรายได้น่าจะไม่เติบโต เป็นไปตามการดำเนินงานของบมจ.ไทยคม (THCOM) หลังจากที่บมจ.ซีทีเอช (CTH) ได้มีการยกเลิกสัญญาใช้ดาวเทียม ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวรายได้ในภาพรวมลดลงราว 7%
ส่วนธุรกิจของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ที่ INTUCH มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 40.45% นั้นมีการปรับประมาณการรายได้เติบโตขึ้นเล็กน้อย จากเดิมคาดน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน เป็นผลมาจากการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ทำให้เอไอเอสสามารถรักษาฐานลูกค้า 2G ไว้ได้ และยังมีการเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้า 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz อีกทั้ง อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) ก็น่าจะอยู่ประมาณ 38-39% เนื่องจากคาดว่ารายได้จากการให้บริการในช่วงครึ่งหลังของปี 59 จะปรับตัวดีขึ้น และค่าใช้จ่ายในการย้ายลูกค้า 2G มีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้เอไอเอส ยังคงงบลงทุนปีนี้ไว้ราว 40,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีการใช้ไปแล้ว 24,000 ล้านบาท ในการขยายโครงข่ายทั้ง 3G และ 4G อย่างต่อเนื่อง
นางสาวทมยันตี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาในธุรกิจ Venture Capital (VC) เพิ่มเติม แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ซึ่งการลงทุน VC ตามนโยบายของบริษัทจะมีการลงทุนไม่ถึง 30% และวางงบลงทุน 200 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันมีการลงทุนดังกล่าวไปแล้วจำนวน 8 บริษัท