บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคนโตส (Kentos) เมืองอุทสึโนะมิยะ จังหวัดโทชิงิ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตของโครงการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 66.78 เมกะวัตต์ และตามการติดตั้ง 72.80 เมกะวัตต์ มูลค่ารวมโครงการประมาณ 24,017 ล้านเยน หรือคิดเป็นประมาณ 8,391 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทจะลงทุนผ่าน Gunkul International (Mauritius) (GIM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และแต่งตั้ง Future Asset Management เพื่อรองรับธุรกรรมในโครงสร้างแบบ TK Structure
โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีใบอนุญาตขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ซึ่งได้รับสัมปทานในการขายไฟฟ้าให้แก่ TEPCO เป็นระยะเวลา 20 ปี ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ feed-in tariff (FIT) หน่วยละ 36 เยน โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 65
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้นับเป็นโครงการที่ 3 ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร ของ GUNKUL กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมนโยบายของบริษัทฯในการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในระดับนานาชาติ และมีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
รวมถึงเปิดโอกาสสำคัญให้บริษัทสามารถขยายฐานธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไปยังต่างประเทศ ส่งเสริมให้บริษัทฯ มีอัตราการเติบโตทั้งทรัพย์สิน ผลกำไรและกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตรา 10-15% ตลอดอายุการลงทุน ที่สำคัญกระจายความเสี่ยงของรายได้ของบริษัทฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ร่วมกับการใช้เงินทุนหมุนเวียนและเงินสดจากผลประกอบการของบริษัทฯ ที่จะได้รับเป็นปกติในระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปี ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้
“บอร์ดพิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวของบริษัทฯ มีความสมเหตุสมผลและจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น เนื่องจากการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไปยังต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมาย ในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการประกอบธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับนานาชาติ และโครงการดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทน อัตราการเติบโตของทรัพย์สิน ผลกำไร และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี"นางสาวโศภชา กล่าว
สำหรับโครงการโซล่าร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 โครงการแรกอยู่ในระหว่างปิดโปรเจคไฟแนนซ์ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ทำให้บริษัทฯมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในระหว่างก่อสร้าง ณ ปัจจุบัน 150 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 15,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการลมอีก 2 โครงการภายในประเทศ ขนาด 60 และ 50 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงตั้งเป้าหมาย 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 60 พร้อมทั้งเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทฯ