(เพิ่มเติม) GYT ลงทุน 162 ล้านเหรียญฯสร้าง รง.ผลิตยางเครื่องบินประเภทเรเดียล,เล็งเพิ่มพนักงานอีก 100 อัตรา

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 30, 2016 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) (GYT) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) อนุมัติโครงการลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางเครื่องบินประเภทเรเดียล (Radial) บนพื้นที่โรงงานเดิมในจ.ปทุมธานี โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 162 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,633 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียให้กับกลุ่มบริษัทกู๊ดเยียร์ และเพื่อตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดยางเครื่องบินเรเดียล ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้ยางผ้าใบ (Bias) มาเป็นยางเรเดียล

ทั้งนี้ บริษัทจะเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกับบริษัท เดอะ กู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ คอมปะนี ประเทศสหรัฐอเมริกา (กู๊ดเยียร์ อเมริกา) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GYT และบริษัท กู๊ดเยียร์ ออเรียนท์ คอมปะนี จำกัด (กู๊ดเยียร์ สิงคโปร์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยกู๊ดเยียร์ อเมริกา โดยการดำเนินการตามโครงการลงทุน บริษัทจะต้องเข้าทำธุรกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนที่จะได้ทำกับกู๊ดเยียร์ อเมริกา และกู๊ดเยียร์ สิงคโปร์

สำหรับการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รวมเป็นระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 10 ปี โดยระยะที่ 1 จะก่อสร้างในช่วงปี 59-61 และดำเนินการผลิตในปี 61 ใช้เงินลงทุน 1,625 ล้านบาท ระยะที่ 2 จะก่อสร้างในช่วงปี 61-65 และดำเนินการผลิตในปี 63 ใช้เงินลงทุน 2,975 ล้านบาท ระยะที่ 3 จะก่อสร้างในช่วงปี 66-68 และดำเนินการผลิตในปี 66 ใช้เงินลงทุน 1,033 ล้านบาท

การลงทุนระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อนเพื่อให้บริษัท สามารถประเมินว่ากำลังการผลิตและกำไรเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งบริษัทจะประเมินการเริ่มลงทุนก่อสร้างระยะที่ 2 และ 3 ตามปัจจัยในเรื่องของประสิทธิภาพของโครงการลงทุนในระยะก่อนหน้า ,ความเหมาะสมของแต่ละระยะของโครงการลงทุน และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกเหนือจากการผลิตยางเครื่องบินประเภทผ้าใบแล้ว GYT จะเริ่มการผลิตยางเครื่องบินเรดียล โดยยางเครื่องบินเรเดียล มีน้ำหนักเบากว่าและสามารถรองรับการลงจอดของเครื่องบินได้มากกว่ายางผ้าใบ นอกจากนี้เครื่องบินพาณิชย์รุ่นใหม่ ๆ จะติดตั้งยางเครื่องบินเรเดียลเป็นมาตรฐานของรุ่นอีกด้วย โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือสายการบินพาณิชย์ ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนรายละเอียดของรายการเกี่ยวโยงนั้น บริษัทจะเข้าทำรายการกับกู๊ดเยียร์ อเมริกา และกู๊ดเยียร์ สิงคโปร์ แบ่งออกเป็น ระยะการก่อสร้างโรงงาน และระยะดำเนินการผลิต โดยระยะก่อสร้างโรงงาน 1.ความช่วยเหลือในการก่อสร้างด้านวิศวกรรม และด้านอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวิศวกรรม มูลค่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงการก่อสร้างทั้ง 3 ระยะ รวมประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.การก่อสร้างอาคาร การซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ มูลค่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น สำหรับรายจ่ายการลงทุนทั้งหมดที่ชำระให้กับกู๊ดเยียร์ อเมริกา ประมาณ 88 ล้านเหรียญสหรัฐ

ระยะดำเนินการผลิต 1.การเข้าทำสัญญาซื้อขายยางเครื่องบินเรเดียล มูลค่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ประมาณ 1,146 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 61-84 คาดว่าจะเป็นการส่งออกยางเครื่องบินเรเดียลที่ผลิตได้โดยการจำหน่ายให้กับกู๊ดเยียร์ สิงคโปร์ เพื่อไปทำตลาดในต่างประเทศ 2.การซื้อขายวัตถุดิบยางสังเคราะห์ มูลค่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ประมาณ 33 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 61-84 ที่บริษัทจะทำการซื้อยางสังเคราะห์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางเครื่องบินเรเดียลจากกู๊ดเยียร์ อเมริกา

3. การใช้เครื่องหมายทางการค้าและเทคโนโลยี มูลค่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ประมาณ 46 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 61-84 และ 4. การให้บริการจัดซื้อยางธรรมชาติ มูลค่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกู๊ดเยียร์ สิงคโปร์ ให้บริการจัดซื้อยางพาราธรรมชาติให้กับบริษัท

นายฟินบาร์ โอคอนเนอร์ กรรมการผู้จัดการ GYT กล่าวว่า แหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในโครงการลงทุนฯจะมาจากเงินสดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ,เงินสดจากการดำเนินงาน และเงินกู้จากสถาบันการเงิน ขณะที่การลงทุนใหม่คาดว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 9.7% และยังเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับบริษัทในระยะยาว เพื่อเป็นการชดเชยยอดขายยางเครื่องบินผ้าใบที่คาดว่าจะตกต่ำลงในอนาคต จากแนวโน้มที่ยางผ้าใบจะถูกทดแทนโดยยางเรเดียล ซึ่งมีความทนทานและน้ำหนักเบากว่า

"ฝูงเครื่องบินบนน่านฟ้าทั่วโลกยังคงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ เห็นได้ชัดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กู๊ดเยียร์ ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านยางสำหรับเครื่องบิน จีงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขยายธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการยางแบบเรเดียลสำหรับเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ด้วยเช่นกัน"นายโอคอนเนอร์ กล่าว

นายโอคอนเนอร์ กล่าวอีกว่า บริษัทจะเริ่มดำเนินการในระยะแรกของโครงการนี้จากทั้งหมด 3 ระยะ ภายในปี 61 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เนื่องจากเครื่องบินพาณิชย์ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ยางแบบเรเดียล แทนยางแบบธรรมดา (bias tire) ขณะที่ปัจจุบันมีพนักงานบริษัทกว่า 1,000 คนในไทย ก็ได้วางแผนเพิ่มจำนวนพนักงานอีก 100 อัตรา เพื่อรองรับโครงการนี้เมื่อเสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ บริษัทจะจัดการประชุมวิสามัญขึ้นในวันที่ 17 พ.ย.59 เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ในแผนการต่างๆ ที่ทางคณะกรรมการของบริษัทได้เห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ บริษัท เอินส์ท แอนด์ ยัง คอร์ปอเรท เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัทได้ทำการทบทวนโครงการการลงทุนและได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่จะนำประโยชน์สูงสุดมาสู่บริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ