บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) แจ้งว่า บริษัทฯได้ลงนามร่างข้อตกลงเบื้องต้น (HOA) กับบริษัท คุราเร่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษชั้นนำของโลกสัญชาติญี่ปุ่น และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SC) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศสัญชาติญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินและการออกแบบทางวิศวกรรม (Front End Engineering Design:FEED) ของโครงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงประเภท High Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) และผลิตภัณฑ์ยางเทอร์โมพลาสติกประเภท Hydrogenated Styrenic Block Copolymers (HSBC) ในไทย
ทั้ง 3 บริษัทคาดว่าจะทำการตัดสินใจลงทุนได้ในช่วงสิ้นปี 60 โดยตามข้อตกลงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 63
โครงการร่วมทุนดังกล่าว จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง มีกำลังการผลิตของ PA9T อยู่ที่ 13,000 ตัน/ปี HSBC อยู่ที่ 16,000 ตัน/ปี นอกจากนี้ คุราเร่ จะดำเนินการศึกษาความเป็นได้ของโครงการผลิต MPD (3-Methyl-1,5-Pentanediol) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องไอโซบิวทีนของคุราเร่ กำลังการผลิต 5,000 ตัน/ปี โดย PTTGC จะจัดส่งบิวทาไดอีน และไอโซบิวทีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตให้กับโรงงาน
PA9T มีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งด้านความร้อนและเชิงกล (Thermal and mechanical properties) มีความทนทานต่อสารเคมี และความสามารถในการขึ้นรูปที่คงตัว ซึ่งเหมาะสำหรับขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความละเอียดซับซ้อน และเหมาะในการแทนที่โลหะเพื่อผลิตรถให้มีน้ำหนักน้อยลงและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง
สำหรับ HSBC มีคุณสมบัติผสมผสานของยางและพลาสติก คือให้ผิวสัมผัสที่นุ่มเหมือนยาง ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี ฉีดขึ้นรูปได้และสามารถรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ได้เหมือนพลาสติก ซึ่ง HSBC ถูกนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์และเด็ก ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค เช่น อุปกรณ์ว่ายน้ำ ซีลยางหน้าต่าง ด้ามแปรงสีฟัน เป็นต้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTGC กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการเปิดตลาดใหม่สำหรับ PTTGC แต่ยังเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของไทย ตลอดจนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
"PTTGC คุราเร่ และ ซูมิโตโม จะผสานความแข็งแกร่งของทั้ง 3 บริษัทเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดแก่ตลาด สำหรับ PTTGC เรามีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์อันดับหนึ่งในอาเซียน พร้อมทั้งโรงงานอะโรเมติกส์และปิโตรเคมีที่ครบวงจร ความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับ PTTGC ในการใช้วัตถุดิบ (Feedstock) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษสำหรับตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น รถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และก่อสร้าง"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย เป็นแหล่งตลาดเศรษฐกิจที่เติบโตมากที่สุดและถือเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และจากการที่ภาครัฐออกนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อสนับสนุนดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน15 ปี การอำนวยความสะดวกและการให้บริการ การลดหย่อนอากรนำเข้า รวมถึงการได้สิทธิในการเช่าถือครองที่ดินมากถึง 99 ปี เป็นต้น