PTTGC เผยกำไรสุทธิ Q3/59 โตจากงวดปีก่อนและไตรมาสก่อน หลังอัตราการใช้กำลังผลิตเพิ่ม,รับรู้เงินประกัน-กำไรสต็อก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 9, 2016 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เผยกำไรสุทธิไตรมาส 3/59 เติบโต 416% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 26% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นและโรงโอเลฟินส์กลับมาผลิตตามปกติหลังจากที่หยุดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงยังรับรู้ค่าสินไหมทดแทนจากกรณีเหตุการณ์โรงงานโอเลฟินส์หน่วยที่ 3 หยุดฉุกเฉินในไตรมาสก่อนหน้าอีก 1,155 ล้านบาทด้วย

ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (Adjusted EBITDA) ของไตรมาสนี้อยู่ที่ 11,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาส 3/58 และเพิ่มขึ้น 47% จากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ในไตรมาส 3/59 บริษัทยังรับรู้กำไรจากสต๊อกน้ำมันอีก 538 ล้านบาทอีกด้วย

โดยในไตรมาส 3/59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 1,207 ล้านบาทในไตรมาส 3/58 และกำไรสุทธิ 4,924 ล้านบาทในไตรมาส 2/59

สำหรับผลกำไรจากการดำเนินกิจการของกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในไตรมาส 3/59 ปรับตัวลดเล็กน้อยเมือเทียบกับงวดปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/59 โดยโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการใช้กำลังการผลิตของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) อยู่ที่ 99% เนื่องจากการกลับมาเริ่มผลิตของโรงกลั่น จากการหยุดผลิตตามแผนตั้งแต่เดือนพ.ค.และกลับมาผลิตในต้นเดือนก.ค. ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันดิบนั้น ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเตาปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันแก๊สโซลีนปรับตัวลง

ส่งผลให้ค่าการกลั่น ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (Market GRM) ในไตรมาส 3/59 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 4.06 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่หากพิจารณาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันดิบ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรับรู้ผลกำไรจากสต็อกน้ำมัน 0.88 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือ 560 ล้านบาท และมีกำไรจากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ส่งผลให้มีค่าการกลั่นที่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (Accounting GRM) อยู่ที่ 4.97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 1.59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 3/58 แต่ลดลงจาก 8.64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 2/59

สำหรับผลประกอบการของกลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในไตรมาส 3/59 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/58 และไตรมาส 2/59 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตสารอะโรเมติกส์ (BTX Utilization) เฉลี่ยอยู่ที่ 75% เพิ่มขึ้นจาก 57%ในไตรมาส 3/58 แต่ลดลงจาก 83% ในไตรมาส 2/59 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอการผลิตตามแผนของหน่วยผลิตย่อย ขณะที่ส่วนต่างราคาพาราไซลีน กับคอนเดนเสท ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกัน ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ P2F Margin ต่อตันผลิตภัณฑ์ BTX ในไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 181 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 1% จากไตรมาส 3/58

แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตและขายในไตรมาส 3/59 มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีการรับรู้ผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/58 ทำให้ Accounting P2F ของธุรกิจอะโรเมติกส์เพิ่มขึ้น 34% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 2/59 มีผลกระทบจากการที่โรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุงตามแผน ทำให้โรงอะโรเมติกส์ไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ให้ได้ จึงต้องนำออกขายในตลาดที่ราคาต่ำ

ส่วนผลประกอบการของกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในไตรมาส 3/59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/58 และไตรมาส 2/59 ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจากการรับรู้ค่าสินไหมทดแทนจากกรณีเหตุการณ์หยุดเดินเครื่องฉุกเฉินของโรงงานโอเลฟินส์ หน่วยที่ 3 ในไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 1,155 ล้านบาท ประกอบกับการใช้กำลังการผลิตโรงโอเลฟินส์ที่กลับมาผลิตในระดับปกติ โดยในไตรมาส 3/59 อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงโอเลฟินส์อยู่ที่ 92% และโรงโพลิเมอร์อยู่ที่ 112% ขณะที่ราคาเม็ดพลาสติก HDPE ปรับตัวลดลง 8% จากไตรมาส 3/58 และ 1% จากไตรมาสก่อนหน้า

ส่งผลให้ Adjusted EBITDA ของกลุ่มธุรกิจโอเลฟินส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 7,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3% จากไตรมาส 3/58 และเพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสก่อนหน้า โดย Adjusted EBITDA margin ของกลุ่มธุรกิจในไตรมาสนี้อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/58 และไตรมาส 2/59 ที่ 24%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ