บอร์ด UPA ยืนยันเสนอผถห.ชี้ขาดลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 200 MW ในเมียนมาแม้ IFA เห็นว่าไม่เหมาะสม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 15, 2016 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) ได้พิจารณาและให้ความเห็นต่อรายงานความเห็นฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเกี่ยวกับการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 200 เมกะวัตต์ (MW) ในเมียนมา เพื่อเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยคณะกรรมการบริษัทเห็นควรให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเรื่องดังกล่าว แม้ว่าที่ปรึกษาทางการเงินอิสระฯเห็นว่าการลงทุนดังกล่าว อาจจะทำให้ผลตอบแทนที่เป็นลบในการลงทุนและการลงทุนมีความไม่เหมาะสม

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เห็นควรให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาให้การรับรองหรือให้สัตยาบันในการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่างบริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย กับการไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมา (MEPE) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจัดจำหน่ายไฟฟ้าเนื่องจากรายการมีความเหมาะสม สมเหตุสมผล และจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท

รวมถึงพิจารณาอนุมัติมอบหมายให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทย่อย หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากกรรกมารผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทย่อย มีอำนาจพิจารณาและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น เกี่ยวข้อง และ/หรือต่อเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ หากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครังที่ 1/2559 มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว คณะกรรมการจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนโดยละเอียดอีกครั้ง และเมื่อทราบต้นทุนโครงการที่บริษัท วอเล่ย์พาร์สันส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาทางวิศวกรรมในการเริ่มต้นโครงการนั้น สามารถจัดทำต้นทุนให้มีความชัดเจนมากขึ้น คณะกรรมการจะติดตามการลงทุนในโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการควบคุมการก่อสร้าง การป้องกันความเสี่ยง การจัดซื้อจัดจ้าง และประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่บริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท

แต่หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติไม่อนุมัติ ให้เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า แต่หากต่อมาผลการศึกษาโครงการของวอเล่ย์พาร์สันส์ ซึ่งรวมถึงการคำนวณต้นทุนและวิเคราะห์โครงการโดยละเอียดที่มีลักษณะเฉพาะของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1/60 ประกอบกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลดลง หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับบริษัท คณะกรรมการอาจนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการของ UPA อนุมัติให้บริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด (MUPA) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ MEPE เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ (โครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2) โดยได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ MEPE ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค.59 เป็นการดำเนินการก่อนได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่ประชุมคณะกรรมการจึงมีมติเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 พิจารณารับรองหรือให้สัตยาบันในการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว โดยบริษัทจะไม่เข้าทำโครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2 ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะพิจารณาอนุมัติคำขอให้รับหลักทรัพย์ใหม่ของบริษัทแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ บริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด (CapAd) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ได้ให้ความเห็นว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล โดยการพิจารณาความเหมาะสมของราคาและเงื่อนไขของรายการ ซึ่งคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ (NPV) ของโครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2 เท่ากับ (10.75)-1.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 10.37% ต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุน 10.82 ปี ซึ่งที่ปรึกษาฯเห็นว่า การลงทุนโครงการดังกล่าวอาจจะให้ผลตอบแทนที่เป็นลบในการลงทุน และการลงทุนมีความไม่เหมาะสม

แต่คณะกรรมการบริษัท เห็นว่าการจัดทำรายงานดังกล่าวของที่ปรึกษาฯ โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเบื้องต้นทางด้านเทคนิค และทางด้านการเงิน ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค จำกัด (EEC) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 29 ก.ค.58 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการ โดยอาศัยข้อมูลค่ามาตรฐานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั่วไป โดยยังไม่ได้ว่างจ้างวิศวกรเพื่อออกแบบอย่างละเอียด ตามลักษณะเฉพาะของโครงการโรงไฟฟ้าเฟส 2 ซึ่งข้อมูลของ EEC ในช่วงนั้นนับว่าเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุด ที่บริษัทจะจัดเตรียมให้แก่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทได้ว่าจ้างวอเล่ย์พาร์สันส์ เป็นที่ปรึกษาทางวิศวกรรมในการเริ่มต้นโครงการออกแบบ คำนวณต้นทุนและวิเคราะห์โครงการ วางแผน และควบคุมการก่อสร้างจนกระทั่งโครงการสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ซึ่งคาดว่ารายงานของวอเล่ย์พาร์สันส์ จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/60 ซึ่งผลที่ได้น่าจะก่อให้เกิดความชัดเจนกับการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ และการขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ เนื่องจากจะมีความชัดเจนในรายละเอียดที่มีลักษณะเฉพาะของโครงการมากกว่ารายงานศึกษาเบื้องต้นของ EEC ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของความไม่แน่นอนของการก่อสร้างโครงการ และจะทำให้ Risk Premium ในการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2 ลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินโครงการมีความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น คณะกรรมการจึงเห็นควรให้เสนอต่อผู้ถือหุ้นพิจารณาเห็นชอบอนุมัติการลงทุนในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวตามเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ