นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ในปี 60 ปตท.สผ.ยังคงมุ่งเน้นที่จะรักษาระดับการผลิตของโครงการในประเทศไทย คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยของปี 60 อยู่ที่ประมาณ 312,000 บาร์เรล/วัน โดยมีความพยายามที่จะรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในช่วง 30-31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในครึ่งปีแรกของปี 60 ปตท.สผ. ยังคงมองว่าน่าจะอยู่ในช่วง 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และกลุ่มนอกโอเปก ส่วนครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันคงจะยังมีความผันผวน ซึ่งต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบกับราคาน้ำมันในอนาคต เช่น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปก นโยบายทางด้านธุรกิจพลังงานของผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองอื่น ๆ
ในด้านต้นทุนต่อหน่วย ทั้งปี 60 คาดไว้ในช่วง 30-31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ประมาณการอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในปี 60 ที่ราว 70% ของรายได้จากการขาย
สำหรับด้านการลงทุนซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตให้กับ ปตท.สผ. ในอนาคตนั้น ปตท.สผ. ยังคงให้ความสำคัญที่จะเร่งรัดพัฒนาโครงการที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอการตัดสินใจ ได้แก่ แหล่งอุบลในโครงการคอนแทร็ค 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทางวิศวกรรมและเตรียมแผนพัฒนา โดยคาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 64 และมีกำลังผลิตราว 25,000-30,000 บาร์เรล/วัน
โครงการ โมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลของโมซัมบิกนั้น ในปี ที่ผ่านมา โครงการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลายด้าน รวมถึงการคัดเลือกผู้รับเหมาสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์นอกชายฝั่งทะเล และการเจรจาสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมางานก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) บนบก รวมถึงได้รับอนุมัติจากรัฐบาลโมซัมบิก สำหรับแผนการโยกย้ายชุมชนออกจากบริเวณการก่อสร้าง (Resettlement Action Plan) ปัจจุบันโครงการกำลังดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับผู้ซื้อ และการเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบของเงินกู้โครงการ (Project Finance) กับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) ภายในปี 60 ด้วยกำลงการผลิตเฟสแรกของโครงการประมาณ 12 ล้านตัน/ปี
โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งตั้งอยู่บนบกทางทิศตะวันออกของแอลจีเรีย ประสบความสำเร็จในการค้นพบอัตราการไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้โครงการเร่งเตรียมแผนพัฒนาเพื่อนำส่งต่อรัฐบาลแอลจีเรียภายในต้นปี 60 ด้วยกำลังการผลิตราว 50,000 บาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ปตท.สผ.ยังมองหาโอกาสทางธุรกิจในการขยายการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาการยื่นซื้อสินทรัพย์ โดยเน้นให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่ผลิตแล้ว หรือกำลังจะเริ่มผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่ค่อนข้างต่ำ มีตลาดรองรับในการขายปิโตรเลียม ช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหมาะสมกับการผลิตของโครงการ และมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ
นายสมพร กล่าวอีกว่า แม้ความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลคาดว่าจะลดลงในอนาคต แต่พลังงานฟอสซิลจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยจากโครงการผลิตที่ปตท.สผ. มีอยู่ปัจจุบันและที่กำลังจะพัฒนาใน 4-5 ปีข้างหน้ากว่า 60% จะเป็นการผลิตก๊าซธรรมชาติ และหากรวมถึงกลยุทธ์ที่จะร่วมลงทุนกับบมจ.ปตท. (PTT)ในธุรกิจ LNG แล้ว มั่นใจได้ว่าทิศทางกลยุทธ์ของปตท.สผ. สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานในอนาคตทั้งของประเทศไทยและของโลกได้
ณ สิ้นปี 59 ปตท.สผ. มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 18,891 ล้านดอลลาร์เหรียญสหรัฐ และมีหนี้สินรวม 7,505 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีโครงการและดำเนินกิจกรรมรวม 37 โครงการ ใน 10 ประเทศ และมีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) จำนวน 695 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณสำรองที่น่าจะพบ (Probable reserves) จำนวน 404 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ขณะที่มีเงินสดในมือราว 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะสามารถรองรับแผนการลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตให้เป็นไปตามแผนงาน รองรับค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งพัฒนาโครงการต่าง ๆ การขุดเจาะสำรวจตามแผนการลงทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการที่สอดคล้องกับแผนธุรกิจของบริษัท
PTTEP ยังระบุในเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงประมาณการผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/60 โดยคาดว่าปริมาณการขายจะอยู่ในระดับ 310,000 บาร์เรล/วัน จากเป้าหมายปริมาณขายทั้งปีที่ 312,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากในไตรมาส 1/60 จะปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโครงการผลิตในเมียนมา ขณะที่จะยังมุ่งเน้นรักษาระดับการผลิตของโครงการในประเทศต่อเนื่อง
ด้านราคาขายน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้น มีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-12 เดือน จึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงในปี 60 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยหากราคาน้ำมันยังคงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยทั้งปี 60 จะอยู่ที่ราว 5.3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และในไตรมาส 1/60 จะอยู่ที่ราว 5.1 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ที่ 49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นปี 59 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ราว 9 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 30% ของปริมาณการขายน้ำมันดิบและคอนเดนเสททั้งหมดของปี 60 ทั้งนี้ บริษัทได้เฝ้าติดตามราคาน้ำมันดิบและมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยในไตรมาส 1/60 จะอยู่ที่ราว 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
PTTEP ระบุถึงแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบงกชที่จะกำลังจะหมดอายุในปี 65-66 ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐทั้งในเรื่องของรูปแบบของสัมปทานและการกำหนดการเปิดประมูล ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 60 โดยบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามในด้านประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแหล่งปิโตรเลียมนั้น ทางปตท.สผ.ได้ประเมินและทบทวนประมาณการค่ารื้อถอนของโครงการที่มีอยู่ทั้งหมดอยู่เป็นระยะ และได้รับรู้ประมาณการค่าใช้จ่ายในอนาคตดังกล่าวอยู่ในรายการประมาณการหนี้สินค่ารื้อถอนอุปกรณ์การผลิต ในงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.59 มีมูลค่า 2,016 ล้านเหรียญสหรัฐ