บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ระบุถึงแนวโน้มการดำเนินงานในปี 60 ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แต่ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากภาพลักษณ์โครงข่ายของบริษัทที่ดีขึ้น และการนำเสนอบริการที่มีความคุ้มค่า นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะยังให้ส่วนลดค่าเครื่องในตลาดบริการระบบรายเดือน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มฐานลูกค้าระบบรายเดือน และโน้มน้าวให้ลูกค้าเปลี่ยนจากการใช้บริการระบบเติมเงินมาเป็นบริการระบบรายเดือนแทน
พร้อมกันนี้ยังคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 60 มีแนวโน้มอยู่ระดับเดียวกับปีก่อน เป็นอย่างน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากวินัยทางการเงิน และการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วงที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง บริษัทจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรักษาวินัยทางการเงินเพื่อให้บริษัทมีความพร้อมต่อโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคตด้วย
สำหรับเป้าหมายของบริษัท คือการเป็นแบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่งในไทยภายในปี 63 บริษัทจึงต้องพัฒนาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลมากขึ้นและดียิ่งขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อโครงข่ายของบริษัท ทั้งนี้ ภายหลังการขยายโครงข่าย 4G ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีแผนการที่จะลงทุนในปีนี้ ด้วยวงเงินประมาณ 1.7-2.0 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาความต่อเนื่องของโครงข่ายและเสริมสร้างประสบการณ์ใช้งานอินเตอร์เน็ตของลูกค้า
ขณะที่อุตสาหกรรมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากบริการอินเตอร์เน็ต โดยคาดว่าผู้ใช้บริการมีแนวโน้มในการบริโภคอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากการใช้งานสังคมออนไลน์ และบริการสตรีมมิ่ง รวมทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางการขายและการตลาดในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต คาดว่ายังคงเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากกิจกรรมทางการตลาดด้านเครื่องโทรศัพท์และแพ็กเกจบริการที่ดึงดูดใจ ทั้งนี้ ระบบบการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) รูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มใช้ในเดือนม.ค.60 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสภาวะการแข่งขันในตลาด
ทั้งนี้ บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลโดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิของบริษัท ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและแผนการประกอบธุรกิจของบริษัทในอนาคต โดยบริษัทมีเป้าหมายจะพิจารณาจ่ายปันผลทุกครึ่งปี
อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) อนุมัติงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งหลังของปี 59 เนื่องจากมีผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะของบริษัท อันเป็นผลจากการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ในไตรมาส 4/59 พร้อมกันนี้ยังอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 474 ล้านบาท และส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญจำนวน 1.19 พันล้านบาทเพื่อลดขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะของบริษัทด้วย
ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/59 บริษัทได้มีประเมินการการด้อยค่าต้นทุนเครื่องมือและอุปกรณ์รอตัดบัญชีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ในการให้บริการตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์โดยเปรียบเทียบ ระหว่างมูลค่าตามบัญชีและมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนจากสินทรัพย์ ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าว ทำให้บริษัทรับรู้ขาดทุนทางบัญชีจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวรวมจำนวน 5.19 พันล้านบาท ซึ่งรายการดังกล่าวกระทบต่อกำไรสุทธิในงบการเงินเฉพาะกิจการเท่านั้น ไม่กระทบต่อกำไรสุทธิในงบการเงินรวม และการขาดทุนดังกล่าวไม่ใช่รายการที่กระทบต่อกระแสเงินสด ส่งผลให้กำไรสุทธิในงบเฉพาะกิจการสำหรับปี 59 ขาดทุนสุทธิ 1.05 พันล้านบาท จากระดับกำไรสุทธิ 7.25 พันล้านบาทในปี 58
สำหรับผลการดำเนินงานงบรวมในงวดปี 59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2.09 พันล้านบาท ลดลง 65% จากปี 58 โดยส่วนใหญ่เกิดจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร ขณะที่ EBITDA อยู่ระดับ 2.79 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากปี 58 โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 ที่ระดับ 30 ล้านบาท ลดลง 97% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 95% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เกิดจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น รวมทั้งการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้บันทึกค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กรจำนวน 146 ล้านบาทในไตรมาส 4/59 ด้วย ส่วนรายได้รวมในปี 59 อยู่ที่ 8.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากปี 58 โดยเป็นรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่ะรดับ 6.47 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.3% จากปี 58 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการเสียง
ณ สิ้นปี 59 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 24.5 ล้านเลขหมาย ลดลงจากระดับ 25.3 ล้านเลขหมายในปี 58 โดยเกิดจากจำนวนลูกค้าระบบเติมเงินที่ลดลง เนื่องจากบริษัทใช้ความระมัดระวังในการให้ส่วนลดค่าเครื่องในตลาดบริการระบบเติมเงิน ขณะที่ในตลาดดังกล่าวมีการให้ส่วนลดค่าเครื่องในระดับสูง อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นมาที่ 5 ล้านเลขหมาย จากเดิมอยู่ที่ระดับ 4.3 ล้านเลขหมายในปี 58