(เพิ่มเติม) GPSC เปิดแผนปี 60 เน้นคุมต้นทุนหลังราคาก๊าซฯปรับขึ้น-โรงไฟฟ้าจะหยุดซ่อมใน H1,เริ่มรับรู้กำลังผลิตใหม่อีก 3 โรงใน H2

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 10, 2017 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แจ้งว่าในปี 60 บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เนื่องจากราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีการซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งบริษัทได้วางแผนรองรับการซ่อมบำรุงดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทยังคงเกิดประสิทธิภาพ และคงเสถียรภาพในการผลิตให้สูงที่สุดในระหว่างการซ่อมบำรุง

รวมถึงจะให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และยังคงแสวงหาโอกาสในการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืนเพื่อความมั่งคั่งแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

สำหรับในปีนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ในจ.จันทบุรีเต็มทั้งปี และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มทั้งปีเป็นปีแรก สำหรับโครงการโรงไฟฟ้านวนคร ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปี 59

สำหรับความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 60 ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น 2 คาดว่าจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในไตรมาส 3 ,โรงไฟฟ้าของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด (IRPC-CP) ระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 4 โดยได้มีการทบทวนวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ใหม่ เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้างระบบสายส่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิชิโนเซกิ โซลาร์ พาวเวอร์ ในญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 4

นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่านมา สามารถทำกำไรได้สูงกว่าเป้าหมาย โดยมีกำไรสุทธิ 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากปี 58 จากความสามารถในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า SPP และความแข็งแกร่งของลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ทำให้โรงผลิตสาธารณูปการระยองมีปริมาณขายไฟและไอน้ำเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีนเพาเวอร์ระยะ 1 เปิดดำเนินการเต็มปี รวมทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่กลางปี 59

สำหรับไตรมาส 4/59 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 4,462 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากโรงไฟฟ้าศรีราชาเป็นโรงไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามการเรียกรับไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรายได้ที่ลดลงจะเป็นรายได้ในส่วนของการชดเชยค่าพลังงาน (Energy Payment) ที่ไม่ได้รับจากกฟผ. เมื่อไม่มีการเรียกรับไฟฟ้า แต่บริษัทยังคงได้รับค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) เนื่องจากมีความสามารถพร้อมจ่ายไฟให้กับ กฟผ. ตามสัญญาและสะท้อนอัตราผลตอบแทนการลงทุนแล้ว

ดังนั้น เมื่อรายได้ลดลงต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวลดลงตามในสัดส่วนที่มากกว่า ส่งผลให้กำไรขั้นต้นในภาพรวมของบริษัท ปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นความสามารถในการดำเนินการผลิตของบริษัทฯ เป็นอย่างดี

ส่วนของกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 มีจำนวน 419 ล้านบาท ลดลง 42% จากไตรมาสก่อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากในไตรมาสก่อน บริษัทได้รับเงินปันผลจาก บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 58 กำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้น 25%

สำหรับแนวโน้มของบริษัท ในปี 60 คาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยนโยบายบริษัทที่ยังคงมุ่งมั่นให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงการร่วมกับกลุ่มปตท. หรือร่วมกับคู่ค้า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพิจารณาเลือกโครงการที่มีผลตอบแทนที่ดี และร่วมกับคู่ค้าที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศที่จะเข้าร่วมลงทุนอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ