(เพิ่มเติม1) "ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์"กำหนดช่วงราคาขายหุ้น IPO ที่ 6-7 บ./หุ้น ก่อนเคาะราคา 24 มี.ค.,คาดเข้าเทรดในเม.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 17, 2017 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ช่วงราคาเบื้องต้นที่ 6-7 บาท/หุ้น ก่อนจะสรุปราคาสุดท้ายก่อนเวลา 9.00 น. ของวันที่ 24 มี.ค. และกำหนดจองซื้อหุ้นสำหรับประชาชนทั่วไประหว่างวันที่ 24 มี.ค. และ 27-29 มี.ค.นี้ โดยคาดว่าจะระดมทุนได้ราว 1.5-1.75 หมื่นล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะหุ้น TPIPP จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในเดือนเม.ย.

ด้าน TPIPL แจ้งเพิ่มเติมว่า สำหรับการเปิดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TPIPP ที่เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นของ TPIPL เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น (Pre-emptive Right) จะเกิดขึ้นก่อนการกำหนดราคาเสนอขาย IPO สุดท้าย ดังนั้น ผู้ถือหุ้นของ TPIPL จะต้องจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TPIPP โดยชำระราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายที่ 7 บาท/หุ้น โดยกำหนดจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม หากราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายของหุ้นเพิ่มทุน TPIPP ที่จะเสนอขายต่อ IPO ต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายหุ้นในเบื้องต้นดังกล่าว TPIPP จะคืนเงินค่าจองซื้อหุ้นส่วนต่างให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

อนึ่ง TPIPP จะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท โดยจะแบ่งจัดสรรจำนวนไม่เกิน 125 ล้านหุ้น เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นของ TPIPL อัตราส่วน 162 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้น TPIPP ส่วนหุ้นที่เหลือไม่เกิน 2.375 พันล้านหุ้น จะเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป TPIPP ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากขยะและพลังความร้อนทิ้ง และประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) โดยบริษัทระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้ชำระหนี้คงค้าง ,ลงทุนในโครงการต่าง ๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

โดย TPIPP ได้ลงนามสัญญาแต่งตั้งบล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ,บล.ทิสโก้ และบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TPIPP และแต่งตั้งบล. 10 ราย ได้แก่ บล.กรุงศรี ,บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) ,บล.ทรีนีตี้ ,บล.ไอ วี โกลบอล ,บล.เอเซีย พลัส ,บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ,บล.เคที ซีมิโก้ ,บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,บล.เคทีบี (ประเทศไทย) และบล.ไอร่า เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่าย

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ TPIPP จะกำหนดโดยพิจารณาจากราคาและจำนวนหุ้นที่นักลงทุนสถาบันเสนอความต้องการซื้อเข้ามา (Book Building) ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการประกาศราคาดังกล่าวภายในก่อนเวลา 9.00 น. ของวันที่ 24 มี.ค.

โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ TPIPL เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นดังกล่าวจะต้องจองซื้อหุ้นที่ราคาจองซื้อเบื้องต้นหุ้นละ 7 บาท และหากราคาเสนอขายสุดท้ายที่จะเสนอขายในครั้งนี้ต่ำกว่าราคาจองซื้อเบื้องต้นดังกล่าว ผู้จัดการการจัดจำหน่ายจะดำเนินการคืนเงินค่าจองซื้อหุ้นส่วนต่างให้ในภายหลัง ส่วนประชาชนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันสามารถจองซื้อหุ้นในวันที่ 24 มี.ค. และ 27-29 มี.ค. โดยจองซื้อที่ราคาเสนอขายสุดท้ายเลย และคาดว่าหุ้น TPIPP จะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนเม.ย.

นายพิธาดา วัชรศิริธรรม กรรมการ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า หุ้น TPIPP ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยมีนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement เพื่อเป็นนักลงทุน Cornerstone Investors คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 473 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสูงถึงเกือบ 20% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนสถาบันต่อหุ้น TPIPP ได้เป็นอย่างดี

นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินได้เดินทางไปพบนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ และมาเลเซีย และได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

ด้านนายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าและสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF รวมมูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตและก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานจากขยะในประเทศไทยในอนาคต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างลงทุนขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 4/60 ทั้งหมด และจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าของ TPIPP มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 290 เมกะวัตต์ (MW) รวมเป็น 440 MW

ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะนำกำลังการผลิตติดตั้งไปรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 MW เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในอนาคต

2.โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 150 MW และ 3.โรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ที่ออกแบบให้สามารถผลิตไฟฟ้าสำรองป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 60 MW หรือโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW โรงใดโรงหนึ่งในกรณีที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากเครื่องจักรชำรุดหรือปิดซ่อมชั่วคราว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างลงทุนขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF รองรับการลงทุนขยายโรงไฟฟ้า โดยจะสามารถรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวันจากเดิม 4,000 ตันต่อวัน และสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนปรับปรุงโรงไฟฟ้าในปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้แก่ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้า และโครงการติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเบื้องต้นเพื่อใช้งานที่หลุมฝังกลบของบริษัทจัดการขยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพขยะที่จัดส่งให้ TPIPP คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปีนี้ รวมถึงมีโครงการลงทุนซื้อหม้อผลิตไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง RDF อีก 2 เครื่อง เพื่อสำรองให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 60 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ในกรณีที่ต้องหยุดซ่อม คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 1/61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ