นายพงศ์ประพันธ์ ฐิตทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า ตามที่กลุ่มโรงงานไออาร์พีซี ที่อยู่ภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง มีแผนหยุดซ่อมบำรุง ตามระยะเวลา (Major Turnaround) และปรับปรุงบางอุปกรณ์ของโครงการ UHV ตั้งแต่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 โดยได้ทยอยหยุดหน่วยผลิตต่าง ๆ ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2560 นั้น ขณะนี้การซ่อมบำรุงใหญ่ใกล้แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการเริ่มทยอยเดินเครื่องหน่วยผลิตต่าง ๆ ตามลำดับ
โดยผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทั้งด้านอากาศ น้ำทิ้ง เสียง ตลอดระยะเวลาดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการซ่อมบำรุงใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงการหยุดกระบวนการผลิต 2. ช่วงการซ่อมบำรุงและตรวจสอบ 3. ช่วงเริ่มเดินเครื่องกระบวนการผลิต ซึ่งผลกระทบจากหอเผาทิ้ง (flare) อาจจะมีในช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 ทำให้เกิดแสงสว่างและควันในช่วงระยะสั้นๆ
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบไว้ในทุกกิจกรรม ตามที่ได้แจ้งให้ทราบโดยละเอียด เมื่อเดือนมกราคม 2560 ก่อนการหยุดซ่อมบำรุง และได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดตลอดช่วงเวลาการซ่อมบำรุง โดยจัดตั้งศูนย์รับข้อร้องเรียน ศูนย์ควบคุมภาวะฉุกเฉิน หมายเลขโทรศัพท์ 1800 – 800 – 008 หรือ 038 – 802560 ที่สามารถแจ้งข้อร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง จัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคสนาม พร้อมทีมงานเฝ้าระวัง เพื่อลงพื้นที่ชุมชนช่วงที่มีการร้องเรียนได้ทันที เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงปัญหา ที่เกิดจากกิจกรรมการซ่อมบำรุงให้ชุมชนทราบจำนวนประมาณ 71,500 ครัวเรือน ประชากร 130,000 คน ครอบคลุม 6 ตำบลในจังหวัดระยอง จัดให้มีสถานีตรวจวัดอากาศถาวร สถานีตรวจวัดอากาศเคลื่อนที่ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบเขตประกอบการเพิ่มเติม 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะ ในพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งจัดให้มีทีมแพทย์สัญจรลงพื้นที่รอบเขตประกอบการฯ
สำหรับศูนย์รับข้อร้องเรียนได้ดำเนินการประสานกับชุมชน ที่ได้รับผลกระทบและแก้ปัญหาเป็นรายกรณี อาทิ การร้องเรียนเรื่องกลิ่น ที่เกิดจากสภาพอากาศร้อน สามารถแก้ไขโดยเปิดน้ำสเปร์ยระบายความร้อนของถังทันที และได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนให้ทราบสาเหตุ หรือแม้แต่ข้อร้องเรียนเรื่องกลิ่นจากหอเผาไหม้ ก็ได้ทำการแก้ไขโดยการปรับอัตราการเผาไหม้ให้สูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบและชี้แจงผู้ร้องเรียนทันที เป็นต้น
มาตรการรองรับเพื่อลดผลกระทบในช่วงการซ่อมบำรุงใหญ่มีดังนี้ 1.จัดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่น เสียง ฝุ่นละออง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 2. การจัดการด้านมลสารทางอากาศ ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศในโรงงานและชุมชนรอบเขตประกอบการฯ 3. การจัดการของเสีย โดยทำการคัดแยกขยะและของเสียตั้งแต่ต้นทาง ส่วนกากของเสียอุตสาหกรรมที่เกิดจากการหยุดซ่อมบำรุง บริษัทฯ จะส่งไปกำจัดยังหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะทำการติดตามการขนส่งอย่างใกล้ชิด
4. การจัดการน้ำเสีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ 4.1 น้ำเสียจากการทำความสะอาดในการเตรียมระบบ จะถูกส่งไปกำจัดโดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4.2 น้ำเสียอื่นๆ จะส่งเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทฯ เพื่อบำบัดให้ได้มาตรฐานตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด 5. การจัดการด้านเสียง จัดให้มีการวัดเสียงในชุมชนในช่วงที่มีกิจกรรมซ่อมบำรุง 6. ด้านการจราจร จัดเวลาการเข้า-ออกของผู้รับเหมา และประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรให้ช่วยอำนวยความสะดวกและจัดระบบในเส้นทางต่างๆ 7. การควบคุมการหกหรือรั่วไหลของสารเคมี โดยตรวจสอบวัสดุ อุปกรณ์ ภาชนะที่นำมาใช้บรรจุของเสียไม่ให้มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันไอระเหยออกสู่บรรยากาศ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ดักไอระเหยที่จุดปฏิบัติงาน
8. พนักงานและผู้รับเหมาต้องปฏิบัติตามมาตรการคู่มือการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย (Safety Turnaround) อย่างเคร่งครัด 9. มีการรายงานข่าวและสื่อสารข้อมูลต่อภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น ชุมชน สื่อมวลชนระยอง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
สำหรับโครงการ UHV ในปี 2557 – 2559 ตลอดช่วงระยะเวลาสร้างและหลังการเดินเครื่องจักรได้เชิญตัวแทนชุมชนเข้าชมการดำเนินโครงการและจัดเวทีสัมมนาร่วมกันจำนวนกว่า 600 คนต่อปี รวมทั้งในปี 2559 ได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมสุขภาพชุมชนปีละ 6 ล้านบาท