EFORL ยันลงทุน"วุฒิศักดิ์คลินิก"รอบคอบเหตุมีโอกาสเติบโตในอนาคต แม้ต้องตั้งด้อยค่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 5, 2017 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) แจ้งว่าตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ของ EFORL ปรากฏการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 2 รายการ ได้แก่ การด้อยค่าความนิยมธุรกิจบริการความงามซึ่งบริษัทลงทุนบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) จำนวน 838 ล้านบาท และการด้อยค่าเงินลงทุนทั้งจำนวนในบริษัท แดทโซ เอชีย คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (แดทโซ) จำนวน 36 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 614 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 210 ล้านบาท โดยที่บริษัทเพิ่งเข้าลงทุนในปี 57

และขอให้ชี้แจงการพิจารณาตัดสินใจเข้าลงทุนในวุฒิศักดิ์คลินิก โดยเฉพาะประเด็นการแข่งขันในธุรกิจบริการความงาม เนื่องจากบริษัทเพิ่งเข้ามาลงทุนได้ไม่นาน แต่ผลการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และต้องตั้งด้อยค่าความนิยมที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการจำนวนมาก รวมถึงให้ชี้แจงการตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนในแดทโซด้วย

ทั้งนี้ EFORL ระบุว่า การด้อยค่าสินทรัพย์รวม 874 ล้านบาทดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุน WCIH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของวุฒิศักดิ์คลินิก และเป็นการตั้งด้อยค่าจากการลงทุนในบริษัท แดทโซฯ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวคณะกรรมการบริษัทดำเนินการด้วยความระมัดระวังตามหลักสุจริตด้วยความละเอียดรอบคอบ และดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งเป็นตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าทำรายการซึ่งเข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ทุกขั้นตอน

สำหรับการแข่งขันในทางธุรกิจบริการความงามนั้น บริษัทพิจารณาจากความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมคลินิกเสริม ความงามว่าแม้เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการเติบโตของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่สนใจด้านความสวยความงามเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมตลาดความงามในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคลินิกผิวหนังมีสัดส่วนร้อยละ 65 หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าในกลุ่มระดับกลางประมาณร้อยละ 60 และอีกประมาณร้อยละ 40 เป็นลูกค้าในกลุ่มระดับพรีเมี่ยม

อนึ่ง WCIG เป็นผู้นำธุรกิจเสริมความ งามภายใต้ชื่อ วุฒิศักดิ์ คลินิก ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 1 มีจำนวน 120 สาขาซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค และเป็นบริษัทที่มีแผนการการตลาดเข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีทีม แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลประกอบการในอดีตที่ดี มีโอกาสขยายทางธุรกิจเสริมความงามไปในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ เพื่อให้คณะกรรมการมีข้อมูล ประกอบการพิจารณาการเข้าทำรายการและสามารถนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ ต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งการเข้าทำรายการซื้อกิจการของวุฒิศักดิ์นั้น บริษัทได้รับการอนุมัติให้เข้าทำรายการโดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 100 %

ส่วนการพิจารณาการด้อยค่าของค่าความนิยมนั้น บริษัทได้แต่งตั้ง บริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประเมินอิสระที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามคำแนะนำของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อทำการ ประเมินมูลค่าธุรกิจของ WCIG ทุกปี ซึ่งในปี 59 ผลการประเมินมูลค่าธุรกิจมีมูลค่าจำนวน 4,908 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชี (Carrying value) บริษัทพิจารณาแล้วว่าเห็นว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องมีการตั้งสำรองการด้อยค่าความนิยม

การด้อยค่าของค่าความนิยมที่ปรากฏในงบการเงินนั้น เป็นการด้อยค่าที่เกิดจากการพิจารณามูลค่าธุรกิจ โดยการคำนวณมูลค่ากิจการโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ WCIG โดยผู้สอบบัญชีพิจารณาโดยใช้หลักความระมัดระวัง (Conservative) ของผู้สอบบัญชี ซึ่งผลการคำนวณมูลค่าธุรกิจด้วยหลักการดังกล่าว เป็นมูลค่าที่น้อยกว่ามูลค่าธุรกิจซึ่งประเมินโดยผู้ประเมินอิสระ และเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่ามูลค่า ณ วันที่บริษัทฯ เข้าทำรายการซื้อกิจการของ WCIG ในช่วงปลายปี 57 และบันทึกบัญชีในการวันที่เข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ส่งผลกระทบต่องบการเงินรวมของบริษัทซึ่งต้องรับรู้การด้อยค่าของค่าความนิยม จำนวน 838 ล้านบาทในงบการเงินปี 59

ส่วนการตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนในแดทโซนั้น บริษัทใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการพิจารณาการด้อยค่าของค่าความนิยมบริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด ตามคำแนะนำของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการประเมินมูลค่าธุรกิจของแดทโซ เช่นเดียวกัน ซึ่งผลการประเมินมูลค่าธุรกิจ ในปี 2559 แดทโซมีมูลค่าธุรกิจ จำนวน 0 บาท หรือ ไม่มีมูลค่า และ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตก็ใช้หลักความระมัดระวัง(Conservative) ประกอบกับการใช้ตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณของผู้ประเมินอิสระมาใช้ในการพิจารณาการตั้งค่าเผื่อด้อยค่าเงินลงทุนในแดทโซ ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ต้องมีการพิจารณาตั้งสำรองเงินลงทุนทั้งจำนวน 36 ล้านบาทดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ