BCPG จะซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดฯ 33.33% ราคาไม่เกิน 357.5 ล้านเหรียญฯ คาดแล้วเสร็จ Q2/60

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 26, 2017 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีซีพีจี (BCPG) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น 33.33% ในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SEGHPL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 357.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.23 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/60

วานนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้ขาย คือบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ อินเวสท์เมนท์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นใน SEGHPL จำนวน 59.54% ซึ่งภายหลังการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทแล้ว จะยังคงเหลือการถือหุ้นในสัดส่วน 26.21% ขณะที่บริษัท เอสอี โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของผู้ขาย จะยังคงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใน SEGHPL ในสัดส่วน 40.46%

สำหรับ SEGHPL เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประกอบกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยการเข้าซื้อหุ้นใน SEGHPL ครั้งนี้ เพื่อการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ วายาง วินดู (Wayang Windu) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Salak และโรงไฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Darajat

นอกจากนี้ SEGHPL ยังมีธุรกิจสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและแก๊ส โดยถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ จำกัด (SEOG) ซึ่งจะถูกปรับโครงสร้าง โดย SEGHPL จะขายให้แก่บริษัทในเครือนอกกลุ่ม SEGHPL ของผู้ขาย โดยผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทั้งหมด ดังนั้น สินทรัพย์ที่บริษัทจะเข้าลงทุนจึงมีเพียงกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเท่านั้น

ปัจจุบัน SEGHPL ลงทุน 60% ในบริษัทย่อย บริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จีโอเทอร์มัล จำกัด (SEG) โดย SEG เป็นผู้ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ วางยาง วินดู ถือเป็นแหล่งพลังงานใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง 227 เมกะวัตต์ และตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสามารถขยายกำลังการผลิตติดตั้งได้สูงสุด 400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจแหล่งไอน้ำ และประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาเพิ่มกำลังการผลิตในหน่วยการผลิต 3 และ 4 กำลังการผลิตหน่วยละ 60 เมกะวัตต์ รวม 120 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาขุดหลุมสำรวจ เพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของหน่วยการผลิตที่ 4 และจะมีการขออนุมัติราคาจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อใช้ในการลงทุนต่อไป

นอกจากนี้ SEGPHL ยังถือหุ้นในอีก 2 บริษัท คือ บริษัท พีที สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ ฮาลมาฮีรา จำกัด และบริษัท พีที สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ อินโดนีเซีย จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ

ขณะเดียวกัน SEGHPL ลงทุน 69.75% ใน บริษัท สตาร์ ฟิโอนิก จีโอเทอร์มัล บี.วี.(SPG) เพื่อลงทุนโดยอ้อมในบริษัทโรงไฟฟ้า 4 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า Salak และ Darajat โดยโรงไฟฟ้า Salak ถือเป็นแหล่งพลังงานใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่สุดอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 337 เมกะวัตต์ ส่วน Darajat ถือเป็นแหล่งพลังงานใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิต 271 เมกะวัตต์

BCPG ระบุว่าการเข้าลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ และการกระจายความเสี่ยงของรายได้จากการดำเนินธุรกิจ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ 24 ชั่วโมง/วัน ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีผลการดำเนินงานในอดีตที่ดี ตลอดจนยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนให้แก่บริษัท ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก และยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังโครงการอื่น ๆ ในภายภาคหน้าจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับกลุ่มสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่

สำหรับแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในการลงทุนครั้งนี้จะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน และกระแสเงินสดภายในบริษัท โดยอยู่ระหว่างการคัดเลือกและเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน

ด้าน บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ระบุว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวของ BCPG เข้าข่ายเป็นการทำรายการของบริษัทด้วย ซึ่งจะมีการนำเสนอให้แก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาในวันที่ 27 เม.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ