บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) แจ้งถึงมุมมองของผู้บริหารสำหรับการดำเนินงานในปี 60/61 (เม.ย.60-มี.ค.61) ว่า สำหรับธุรกิจระบบขนส่งมวลชน บริษัทฯตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารสายหลักสำหรับปี 60/61 ที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของค่าโดยสารที่ 1% จากปัจจัยหนุนหลักไม่ว่าจะเป็นการเติบโตตามธรรมชาติของธุรกิจ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ตลอดแนวรถไฟฟ้า และการเปิดให้บริการสถานีสำโรง (E15) ซึ่งเป็นสถานีแรกของส่วนต่อขยายสายสีเขียวฝั่งใต้ ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ในเดือนมี.ค.60 ที่ผ่านมาบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้บรรลุข้อตกลงในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้ (จากแบริ่ง-สมุทรปราการ และจากหมอชิต-คูคต) ระยะทางรวม 30.8 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในระยะยาวและสม่ำเสมอ โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท เมื่อรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้งสองส่วนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 63
ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง คาดว่าจะได้ลงนามในสัญญาสัมปทานของทั้งสองเส้นทางเร็ว ๆ นี้ คาดว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งสองสายน่าจะเริ่มได้ทันทีหลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งมอบพื้นที่ส่วนสำคัญแล้วเสร็จ และจะใช้เวลาก่อสร้างเส้นทางหลักประมาณ 39 เดือน คาดว่ารถไฟ้าทั้งสองสายจะเปิดให้บริการได้ในปี 63 นอกจากนี้จากการที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV) ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ยังได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองภายใต้ข้อเสนอเพิ่มเติม ส่วนต่อขยายดังกล่าวจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทางนี้ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม เช่น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีรถไฟฟ้าอีกสามเส้นทางเปิดประมูลในปี 60/61 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสหนึ่ง ระยะทาง 16.3 กม. ,รถไฟฟ้าขนาดเบา (LRT) ระยะทาง 18.3 กม. และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทาง 39.6 กม. บริษัทคาดว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเทา และ LRT เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทาจะเชื่อมต่อทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีเขียว โดยหากบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลจะสามารถให้บริการแบบไร้รอยต่อเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารมากขึ้น และในส่วนของ LRT เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้า LRT นั้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และยังจะเสนอต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ใช้พื้นที่บริเวณธนา ซิตี้ ของบริษัท ในการสร้างศุนย์ซ่อมบำรุงและโรงเก็บรถไฟฟ้า (depot) สำหรับ LRT โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูล นอกจากนี้ยังคาดว่าจะเข้าร่วมประมูลในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเช่นกัน
สำหรับธุรกิจสื่อโฆษณา บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ยังคงขับเคลื่อนการเติบโตผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยการพัฒนาธุรกิจไปสู่การเป็น“ศูนย์กลางสื่อโฆษณาภายใต้ฐานข้อมูลแบบครบวงจร" (Data-Centric Media Hypermarket) ซึ่งเป็นคลังรวมสื่อโฆษณานอกบ้านที่หลากหลาย พร้อมยังเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจสื่อโฆษณาที่จะสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่บริษัทเพิ่มเข้าลงทุนในปีที่ผ่านมา
โดยคาดหวังว่าการรวมธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มที่หลากหลายและการเพิ่มกำลังการผลิตสื่อโฆษณาจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นและลูกค้าของบริษัท ทั้งนี้ VGI คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจสื่อโฆษณาจะเพิ่มเป็น 4 พันล้านบาทในปี 60/61 จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของผลประกอบการในทุกธุรกิจ ได้แก่ รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน เพิ่มขึ้นเป็น 2.15 พันล้านบาท จากการปรับขึ้นราคาโฆษณาและการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้พื้นที่ ซึ่งเกิดจากการนำเสนอแคมเปญรูปแบบใหม่จากแรบบิทมีเดีย
สื่อโฆษณากลางแจ้ง คาดว่าจะมีรายได้ 950 ล้านบาท จากการที่บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) รับรู้รายได้จากการรวมงบการเงินเต็มปีของ Multi Sign หลังการเข้าลงทุนเมื่อปีก่อน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนการเข้าซื้อกิจการอื่น และการเปลี่ยนป้ายบิลบอร์ดภาพนิ่งเป็นหน้าจอดิจิทัล ทั้งนี้ VGI คาดการณ์ค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับปี 60/61 ที่ 700 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายลงทุนของ VGI จำนวน 340 ล้านบาท และ MACO จำนวน 210 ล้านบาท และ Rabbit Group 150 ล้านบาท
สำหรับโครงการร่วมทุนระหว่าง BTS และบมจ.แสนสิริ (SIRI) ภายใต้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น คาดว่าจะเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ อย่างน้อย 4 โครงการ มูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 60/61 โดยคาดว่าจากการร่วมมือระหว่างกันจะทำให้สามารถรรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุนระหว่าง BTS และ SIRI ในปี 60/61 จากการโอนห้องคอนโดมิเนียม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการ เดอะไลน์ จตุจักร-หมอชิต และเดอะไลน์ สุขุมวิท 71
นอกจากนี้ยังคาดว่าจะรับรู้รายได้จากอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ จำนวน 650 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนสำหรับปี 60/61 จำนวน 1.45 พันล้านบาท แบ่งเป็นการรีโนเวท และปรับปรุงโครงการธนา ซิตี้ จำนวน 880 ล้านบาท ค่าก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดรายได้ประจำในโครงการธนา ซิตี้ จำนวน 300 ล้านบาท และจัดหาที่ดินอีกจำนวน 270 ล้านบาท