ตลท.ขอให้ผถห. WHAUP ศึกษาข้อมูลแตกพาร์อย่างรอบคอบ ก่อนเข้าประชุม 30 มิ.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 8, 2017 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ผู้ถือหุ้นของบมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ศึกษาข้อมูลการแตกมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) อย่างรอบคอบเพื่อเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หลังบริษัทยืนยันว่าการจะแตกพาร์เป็นหุ้นละ 1 บาท จากเดิมหุ้นละ 5 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

ขณะที่ตลท.เห็นว่าการเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นบริษัทไม่ได้ขึ้นอยู่กับพาร์เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ นอกจากนี้บริษัทควรมีการเตรียมการล่วงหน้า ถึงการจัดการโครงสร้างการถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนหุ้นจดทะเบียน สัดส่วนการกระจายหุ้น ราคาพาร์ ปริมาณหุ้นและราคาที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เพื่อให้การกระจายการถือหุ้นของบริษัทเป็นไปอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ตลท.ให้ WHAUP ชี้แจงความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมกรณีคณะกรรมการบริษัทอนุมัติเปลี่ยนแปลงพาร์ จากหุ้นละ 5 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท ภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียง 2 เดือน ซึ่งหุ้น WHAUP ได้เริ่มซื้อขายวันที่ 10 เมษายน 2560

โดยคณะกรรมการของ WHAUP ชี้แจงว่ามูลค่าและปริมาณการซื้อขายหุ้น WHAUP อยู่ในระดับต่ำ แต่ราคาหุ้นค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบกับบริษัทในกลุ่มพลังงานช่วงวันที่ 19 เมษายน - 24 พฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ การแตกพาร์ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกระจายหุ้นสู่นักลงทุนทุกกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปของบริษัทจดทะเบียน เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยตั้งแต่ปี 2557 มี 66 บริษัทได้แก้ไขพาร์

อย่างไรก็ตามตลท. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยทั่วไปบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าโดยคณะกรรมการบริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ซึ่งรวมถึงการจัดการโครงสร้างการถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนหุ้นจดทะเบียน สัดส่วนการกระจายหุ้น ราคาพาร์ ปริมาณหุ้นและราคาที่จะเสนอขาย IPO เพื่อให้การกระจายการถือหุ้นของบริษัทเป็นไปอย่างเหมาะสมกับลักษณะของบริษัท

ทั้งนี้ WHAUP มีจำนวนหุ้นเข้าจดทะเบียน 765 ล้านหุ้น โดยเป็นการเสนอขายหุ้น IPO 229.50 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 26.25 บาท ที่พาร์หุ้นละ 5 บาท

นอกจากนี้การพิจารณาสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับพาร์เท่านั้น แต่ยังขึ้นกับองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น การกระจายการถือหุ้น จำนวนหุ้นที่จดทะเบียน และผลการดำเนินงานของบริษัท เป็นต้น โดยช่วงเวลาที่ใช้ในการพิจารณาควรมีระยะเวลานานพอสมควรตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียน และการเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นควรคำนึงถึงขนาดบริษัท ลักษณะธุรกิจและการกระจายการถือหุ้นที่มีความแตกต่างกันด้วย นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2557 บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะแตกพาร์ภายหลังการเข้าจดทะเบียนแล้ว 2 ปี

ทั้งนี้ กรณีของ WHAUP มีช่วงเวลาซื้อขายเพียง 29 วันทำการ จึงอาจยังไม่สามารถสะท้อนได้ว่าหุ้น WHAUP มีสภาพคล่องต่ำ ราคาซื้อขายหุ้นอยู่ในระดับสูง และมีจำนวนหุ้นน้อย ตามแนวทางแตกพาร์ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด อีกทั้งราคาซื้อขายในปัจจุบันของ WHAUP ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากราคาที่ WHAUP ได้เสนอขายต่อประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ