CK แจงแพ้คดีค่าโง่ทางด่วนกับกทพ.ไม่กระทบงบการเงิน เหตุบันทึกค่าเผื่อหนี้สูญฯเต็มจำนวนแล้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 29, 2017 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ช.การช่าง (CK) แจงผลการดำเนินการฟ้องคดีของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 35% ที่เรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง หรือ คดีค่าโง่ทางด่วนนั้น จะไม่กระทบฐานะการเงินของบริษัท เนื่องจากได้มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนแล้ว

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ซึ่งประกอบด้วย บิลฟิงเกอร์เบอร์เกอร์ เอจี (สัดส่วนการร่วมค้า 40%), CK (สัดส่วนการร่วมค้า 35%) และวัลเทอร์เบา เอจี (สัดส่วนการร่วมค้า 25%) ได้ฟ้องเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากกทพ. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี โดยกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้บันทึกจำนวนเงินดังกล่าวเป็นสินทรัพย์และรายได้ในงบการเงินสำหรับปี 2544 ซึ่งตามสัดส่วนของบริษัทที่มีในกิจการร่วมค้า คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท

แต่เนื่องจากความล่าช้าในการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าจ้างต่อศาลแพ่งเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินแก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลแพ่งที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในการให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ดังนั้น กิจการร่วมค้า บีบีซีดี จึงได้บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนสำหรับลูกหนี้เงินชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายในกำไรหรือขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2549 ซึ่งตามสัดส่วนของบริษัทที่มีในกิจการร่วมค้าคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าจ้างต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ใช้จ่ายไปคืนจากผู้ว่าจ้างในฐานลาภมิควรได้ รวมเป็นเงินค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยคำนวณจนถึงวันฟ้องจำนวนเงินประมาณ 3,400 ล้านบาท (ตามสัดส่วนของบริษัทที่มีในกิจการร่วมค้า)

ต่อมาในวันที่ 15 กันยายน 2554 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี จำนวน 1,750 ล้านบาท (ตามสัดส่วนของบริษัทที่มีในกิจการร่วมค้า) พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป จนกว่าผู้ว่าจ้างจะชำระหนี้ให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี เสร็จสิ้น

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัท แต่ประการใด เนื่องจากกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว ขณะนี้ กิจการร่วมค้า บีบีซีดี อยู่ในระหว่างการพิจารณาในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ