บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แจ้งว่าบริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (VSCG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทางอ้อมทั้งหมด ได้อนุมัติการดำเนินการลงทุนในโครงการของ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม โดย LSP จะจัดทำหนังสือแจ้งผู้ชนะการประกวดราคา (Letter of Award) ให้กับผู้รับเหมาหลักในวันที่ 14 กรกฎาคม 2560
คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณสี่ปีครึ่ง และจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
สำหรับมูลค่าการลงทุนรวมในโครงการของ LSP คิดเป็นเงินประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 188,000 ล้านบาท โดยจะมีโครงสร้างทางการเงินประกอบด้วยเงินกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign denominated debt) และเงินทุนในอัตราส่วน 60:40 โดยค่าใช้จ่ายลงทุนจะทยอยจ่ายไปตลอดช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการ โดยผู้ให้กู้คาดว่าจะเป็นสถาบันสินเชื่อเพื่อการส่งออกและธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ SCC ถือหุ้นทางอ้อมใน LSP ร้อยละ 71 (โดยบริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ร้อยละ 53 และบมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) ร้อยละ 18) ในขณะที่ Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) ถือหุ้นร้อยละ 29
LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของประเทศเวียดนาม มีความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจเนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร มีความประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และสามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ LSP ยังมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจการ เช่นท่าเรือน้ำลึก และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณร้อยละ 30 ของเงินลงทุนทั้งหมด
จุดเด่นของโครงการนี้คือการมีโรงงานผลิตเอทิลีนขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี ที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยสามารถเลือกใช้ก๊าซร่วมกับแนฟทาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อการผลิตโอเลฟินส์รวมกันได้สูงถึง 1.6 ล้านตัน/ปี สำหรับเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตของ LSP ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ได้รับการยอมรับ
ส่วนวัตถุดิบจะประกอบด้วยก๊าซอีเทนจากแหล่งภายในประเทศเวียดนาม ก๊าซโพรเพนและวัตถุดิบแนฟทาจากการนำเข้าภายใต้สัญญาซื้อขายวัตถุดิบในราคาตลาดที่แข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้โรงงานมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเลือกใช้ก๊าซเพื่อบริหารต้นทุนได้สูงสุดถึงร้อยละ 80 ของวัตถุดิบทั้งหมด นอกจากนี้การผลิตโพลิโอเลฟินส์ในขั้นปลายซึ่งประกอบด้วยโรงงาน High Density Polyethylene (HDPE), Linear Low Density Polyethylene (LLDPE) และ Polypropylene (PP) จะมีกำลังการผลิตโดยรวมใกล้เคียงกับโรงงานโอเลฟินส์
LSP ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นตลาดหลักและเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเพียง 100 กิโลเมตร โดยในปี 2558 ประเทศเวียดนามนำเข้าผลิตภัณฑ์โพลิโอเลฟินส์ประมาณ 2.3 ล้านตัน ขณะที่ LSP จะเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจเนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร มีความประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และสามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งจากความสามารถในการแข่งขันดังกล่าวจึงคาดว่าโครงการนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการลงทุนของ SCC