POLAR แจงถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯหลังไม่สามารถส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าหนี้-เล็งประนอมหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 8, 2017 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) ชี้แจงกรณีการถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง หลังจากไม่สามารถส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ที่มีอยู่ทุกรายได้ครบตามที่มีผู้ร้องขอ รวมถึงจะขอเวลาเพื่อติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจาจำนวนหนี้ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรและอาจประนอมหนี้เป็นที่ยุติได้ ส่วนแนวทางดำเนินการกับมูลหนี้ที่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรวม 3,620 ล้านบาทนั้นจะดำเนินการต่อสู้คดีแพ่งที่ถูกฟ้องร้องต่าง ๆ จนกว่าคดีถึงที่สุด

POLAR ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีการถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สอบถามถึงเหตุผลที่คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการทั้งที่เคยให้ความเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นว่า

เนื่องจากมีผู้ยื่นขอให้เลื่อนการพิจารณา โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการครั้งก่อนที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและยังมิได้รับชำระหนี้ รวมทั้งยังมีเจ้าหนี้อื่นราว 31 รายที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้เช่นเดียวกัน พร้อมกันนั้นผู้ยื่นดังกล่าวขอให้บริษัทในฐานะผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้ด้วย

ต่อมาทนายความของบริษัทได้พยายามติดต่อส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ที่มีอยู่ทุกรายให้ครบ แต่ไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากเป็นเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นในอดีตในสมัยที่ยังเป็น บมจ.นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งทนายความเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการให้ทัน จึงเสนอให้พิจารณาถอนคำร้องขอฟื้นฟูออกไปก่อน โดยสามารถยื่นใหม่อีกครั้งเมื่อสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จและครบถ้วน เพื่อยังคงผลตามเจตนาเดิมต่อไป

นอกจากนั้น บริษัทจึงขอเวลาเพื่อติดต่อบรรดาเจ้าหนี้ดังกล่าวเพื่อดำเนินการเจรจาจำนวนหนี้ก่อน คาดว่าอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรและอาจประนอมหนี้เป็นที่ยุติได้ ดังนั้น เพื่อมิให้กระบวนการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางล่าช้า ขัดข้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหาย คณะกรรมการจึงมีมติให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อไปดำเนินการดังกล่าวก่อน เพราะหากสามารถประนอมหนี้ได้ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทและผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ส่วนแนวทางดำเนินการกับมูลหนี้ที่บริษัทแจ้งว่าถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรวม 3,620 ล้านบาทนั้น บริษัทจะดำเนินการต่อสู้คดีแพ่งที่ถูกฟ้องร้องต่าง ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ขณะที่การแจ้งยื่นถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการล่าช้านั้น เนื่องจากในการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้รายต่าง ๆ บริษัทจำต้องสงวนท่าทีในการเจรจาไว้ หากบริษัทแจ้งการยื่นถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในทันที และได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะ อาจจะส่งผลต่อสถานะของบริษัทในการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้

กรณีข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องชี้แจงต่อ ตลท.นั้น ได้แก่ การขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ ในประเด็นการมีหนี้สินล้นพ้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้น ที่มาของมูลหนี้ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกันและไม่สอดคล้องกับที่เคยแจ้ง ตลท.นั้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.59 บริษัทมีหนี้สินจำนวน 464,953,297 บาท และเนื่องจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีฟื้นฟูกิจการหมายเลขดำที่ ฟ.3757/2548 หมายเลขแดงที่ ฟ.3519/2548 ซึ่งเป็นคดีที่ บมจ.นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ เคยยื่นขอฟื้นฟูกิจการไว้ โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

จากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ทำให้บริษัทยังคงมีหนี้สินเดิมก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการอยู่ 1,640,876,726.64 บาท และอาจมีหนี้ที่เจ้าหนี้อยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี และมีการบอกกล่าวทวงถามแล้วอีก 3,627,500,000 บาท ทำให้บริษัทอาจจะมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ส่งผลให้เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องกลับสู่ฐานะเดิมก่อนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการในคดีเดิม บริษัทได้พยายามหาแนวที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินเดิม บริษัทจึงได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณาให้เกิดความชัดเจน และเกิดความถูกต้องในทางปฏิบัติให้เป็นที่ยุติ

ดังนั้น เมื่อรวมหนี้สินตามงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.59 และรวมหนี้ตามที่ศาลฎีกาพิพากษากลับว่าไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จำนวนประมาณ 1,640,876,726.64 บาท กับภาระหนี้ที่เจ้าหนี้อยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี และมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว อีกจำนวนประมาณ 3,627,500,000 บาท ซึ่งอาจจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างต้น คิดคำนวณเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 5,733,330,023.64 บาท

ส่วนกรณีผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจัดประชุมผู้ถือหุ้นตามพ.ร.บ.มหาชนในวันที่ 16 ก.ค.60 ในประเด็นการหารือกับที่ปรึกษากฎหมายและหน่วยงานที่กำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการจัดประชุมดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและสรุปคะแนนเสียงในแต่ละวาระการประชุมนั้น

POLAR ชี้แจงว่าเกิดจากกรณีที่กลุ่มนายอนุวิทย์ ตันติเสเวกุล ได้จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 16 ก.ค.60 โดยในการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแต่ละครั้งรวมทั้งครั้งนี้นั้นมิได้ระบุรายละเอียดของวาระการประชุมในแต่ละวาระอย่างชัดเจนและเพียงพอ อีกทั้งวาระการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมจำนวน 15 คนนั้นก็มิได้ระบุชื่อและคุณสมบัติของกรรมการ รวมทั้งรายละเอียดของกรรมการที่จะแต่งตั้งเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อพิจารณาในวาระการแต่งตั้งกรรมการนั้น มีกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

ภายใต้ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย และความเห็นทางกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นความเห็นในเชิงข้อกฎหมาย คณะกรรมการของบริษัทมีความเห็นว่าการประชุมผู้ถือหุ้นตามที่กลุ่มนายอนุวิทย์ ได้แจ้งจัดขึ้นเป็นการร้องขอให้คณะกรรมการจัดการประชุมที่ไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย คณะกรรมการจึงไม่สามารถจัดการประชุมผู้ถือหุ้นตามที่ผู้ถือหุ้นร้องขอโดยใช้สิทธิตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ได้

แม้ว่าต่อมาผู้ถือหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะดำเนินการจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเอง โดยอ้างว่าคณะกรรมการบริษัทไม่จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่ผู้ถือหุ้นร้องขอ ซึ่งการประชุมดังกล่าวนั้นเป็นการจัดประชุมที่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 (รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม) และข้อบังคับของบริษัท

ส่วนกรณีความคืบหน้าในการรับคืนเงินมัดจำเพื่อจะซื้อที่ดินย่านพหลโยธิน 350 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันการเจรจาขยายระยะเวลาการซื้อที่ดินยังคงดำเนินการอยู่ ซึ่งบริษัทได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างมากเพื่อให้บรรลุผลที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท รวมทั้งในการจัดหาแหล่งเงินทุนในการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ และเพื่อไม่นำไปสู่การริบเงินมัดจำ แต่บริษัทไม่อาจกำหนดวันที่จะบรรลุผลได้ เนื่องจากอาจจะกลายเป็นข้อด้อยหรือข้อจำกัดในการเจรจากับผู้ขาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ขายมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและริบมัดจำแต่อย่างใด

ขณะที่การให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทไซมิส แอ็คคอม จำกัด จำนวน 160 ล้านบาทนั้น ในช่วงเดือนก.พ.60 บริษัทมีเงินสดคงเหลือที่ยังไม่มีแผนการใช้เงินในระยะสั้นจำนวนหนึ่ง จึงต้องหาทางนำเงินสดส่วนนี้ออกมาใช้หารายได้ให้แก่บริษัทเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ประกอบกับบริษัทดังกล่าวมีหนังสือลงวันที่ 28 ก.พ.60 เพื่อเสนอขายตั๋วแลกเงินให้แก่ POLAR ในวงเงิน 160 ล้านบาท ระยะเวลา 90 วัน โดยมีอัตราคิดลด 6% ต่อปี และได้นำเสนอหลักประกันการใช้เงินคืนตามตั๋วแลก ซึ่งเพียงพอต่อมูลค่าการลงทุน บริษัทจึงเข้าลงทุนในตั๋วแลกเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทได้รับชำระเงินเงินคืน จำนวน 160 ล้านบาท จากบริษัท ไซมิส แอ็คคอม จำกัด ครบถ้วนแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ