นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ประธานเจ้าหน้าที่บบริหาร บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหินในปีนี้อยู่ที่ราว 5.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.31 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้มีปริมาณขายแล้ว 2.87 ล้านตัน โดยปริมาณขายถ่านหินในปีนี้จะมาจากเหมือง LHI จำนวน 3.5 ล้านตัน และ SGP จำนวนประมาณ 2.1 ล้านตัน
ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะเริ่มการผลิตถ่านหินจากพื้นที่ใหม่ของแหล่ง SGP หลังจากได้รับอนุญาตเข้าทำพื้นที่บริเวณป่าไม้ ซึ่งคาดว่าผลผลิตถ่านหินจะออกมาในเดือน ต.ค.นี้ โดยถ่านหินจากพื้นที่ดังกล่าวนับว่ามีคุณภาพดีมีค่าความร้อนประมาณ 4,900 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม ขณะที่ทิศทางราคาถ่านหินที่ยังอยู่ระดับที่ดีก็จะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากราคาถ่านหินที่ยืนอยู่ในระดับสูงด้วย เนื่องจากปัจจุบันการขายถ่านหินของบริษัทจะอ้างอิงตาม Index ไม่ได้ซื้อขายล่วงหน้ามากนักเพื่อให้บริษัทและลูกค้าได้รับประโยชน์ที่เหมาะสม
สำหรับทิศทางราคาถ่านหินนิวคาสเซิล ล่าสุดพุ่งทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน นับว่าร้อนแรงที่สุดในปีนี้และสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.59 จากปัญหาเรื่องแรงงานและการขนส่ง ทำให้ไม่สามารถผลิตถ่านหินได้ตามเป้า ส่วนอินโดนีเซียก็ยังมีปัญหาฝนตกทำให้การผลิตถ่านหินได้ไม่มากนัก ขณะที่จีนมีการนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยปัญหาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ส่งผลให้ปริมาณถ่านหินในเอเชียขาดแคลน อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็เริ่มมีถ่านหินจากสหรัฐ กำลังเข้ามาในตลาดเอเชียและยุโรปบ้างแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาถ่านหินปีนี้จะไม่ลงมาต่ำกว่าราว 66 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพราะความต้องการใช้จากโรงไฟฟ้าในเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้บริษัทยังสามารถรักษาการทำกำไรในธุรกิจถ่านหินได้
"เรามั่นใจว่าราคาถ่านหินจะไม่ลงต่ำกว่า 66 เหรียญฯ/ตันในปีที่แล้ว ที่ผ่านมาก็ยืนได้ สำหรับเราถ้าราคาต่ำกว่า 65 สำหรับลานนาเริ่มอึดอัด แต่ต่ำกว่า 60 เริ่มรักษาสภาพการทำกำไรของทั้ง 2 เหมืองไม่ได้ แต่ปัจจุบันราคาขึ้นมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดูสัญญาณต.ค.-พ.ย.คงไม่ถึงช่วงนั้น ยกเว้นหนาวจะมาเร็วในจีน...ปีนี้ดูเหมือนว่า supply จะมากกว่าตอนต้นปี แต่เมื่อจบสิ่นปี demand ขึ้นมาก็น่าจะ match มองไปข้างหน้ายังมี demand จากโรงไฟฟ้าจีน อินเดีย เซาท์อีสเอเชีย เกาหลี ญี่ปุ่น ถ้าพวกนี้เกิดได้จริงก็จะทำให้มีความต้องการใช้ถ่านหินเข้ามาเยอะ ราคาถ่านหินก็ยืนเหนือ 65 เหรียญ เราก็จะยังเดินหน้าซื้อเหมืองต่อไป"นายสีหศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบัน LANNA มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้น 55% ในเหมือง LHI และถือหุ้น 65% ในเหมือง SGP ขณะเดียวกันยังถือหุ้น 51% ใน บมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) ซึ่งทำธุรกิจเอทานอลด้วย โดยในปีที่ผ่านมาธุรกิจถ่านหินทำกำไรได้ในสัดส่วนราว 42% และเอทานอลมีสัดส่วนกำไรราว 32% ส่วนกำไรที่เหลือมาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและรายได้อื่น
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพิ่มเติมต่อไป รวมถึงยังมองหาโอกาสการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มเติมอีกด้วย แต่ในส่วนของการลงทุน EEC ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 200 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ปากเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย มูลค่าโครงการราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่แล้วเสร็จในราวเดือนพ.ย. โดยการลงทุนของบริษัทจะเป็นการพัฒนาโครงการร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และการไฟฟ้าของอินโดนีเซีย (PLN) โครงการจะตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่ง SGP ที่จะเปิดการผลิตจากพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า Argosari มีระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน หากรัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจในปลายปีนี้ก็น่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันตามที่รัฐบาลต้องการในช่วงปี 65 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินเกิน 40 ล้านตัน ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาด 200 เมกะวัตต์ ต้องมีปริมาณสำรอง 22-30 ล้านตัน
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจเอทานอลในปีนี้ บริษัทนับว่าได้รับประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานแห่งที่ 2 ให้สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย ช่วยลดผลกระทบจากวัตถุดิบโมลาสที่มีราคาแพง โดยปัจจุบันโรงงานแห่งที่ 2 สามารถใช้มันสำปะหลัง,ข้าวบด และโมลาส เป็นวัตถุดิบได้ ส่งผลให้การผลิตเอทานอลของบริษัทยังสามารถทำมาร์จิ้นได้ราว 2 บาท/ลิตร จากราคาขายปัจจุบันราว 25 บาท/ลิตร ว่าแต่
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานแห่งที่ 1 เพื่อรองรับวัตถุดิบได้หลากหลายเช่นเดียวกัน หรืออาจจะพิจารณาปรับเปลี่ยนการผลิตแอลกอฮอล์ ในเกรดอื่นเพื่อรองรับสำหรับอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากการนำมาผสมในน้ำมันเบนซิน เพื่อเป็นแก๊สโซฮอล์
สำหรับกรณีที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายถ่านหินประสบปัญหาสภาพคล่องในขณะนี้นั้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดถ่านหินในประเทศในส่วนที่ EARTH เป็นคนป้อนตลาดราว 2 แสนตัน/เดือน โดยจะเห็นผลตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นของลูกค้ารายใหญ่ราว 1 แสนตัน/เดือน ได้ตกลงที่จะจัดหาถ่านหินเข้ามาเอง แต่ในส่วนของลูกค้ารายย่อยนั้นอีกราว 1 แสนตัน/เดือนนั้น แม้จะมีผู้นำเข้าถ่านหินบางรายได้รับคำสั่งซื้อส่วนดังกล่าวไป แต่ก็ไม่ได้นำเข้าถ่านหินในระดับค่าความร้อนตรงกับความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทคงไม่สามารถจัดหาถ่านหินเพื่อรองรับตลาดรายย่อยดังกล่าวได้มากนัก เบื้องต้นคาดว่าจะรองรับได้เพียง 15,000 ตัน/เดือน อาจจะรองรับให้เฉพาะลูกค้าเก่าของบริษัทได้เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันบริษัทนำถ่านหินเข้ามาในประเทศราว 1 ล้านตัน/ปี เมื่อเทียบกับการนำเข้าของประเทศที่ราว 15 ล้านตัน/ปี แต่หากหักการนำเข้าเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ก็จะมีการนำเข้าจริงราว 9 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศราว 15%
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็น 1 ใน 2 รายที่ได้รับคัดเลือกเบื้องต้นจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการจัดหาถ่านหินเพื่อรองรับการการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดย กฟผ.จะรับซื้อต่อรายราว 8 พันตัน/วัน จาก 2 บริษัท แต่กระบวนการล่าสุดทางกฟผ.ได้แจ้งขอชะลอการดำเนินการออกไปอีก 1 ปีจากปลายปี 59 หลังจาก กฟผ.ได้ชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ออกไป