บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายรายได้จากการขายและบริการ จะเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน ,กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ซึ่งรวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย จะเติบโตประมาณ 15-20% จากปีก่อน โดยในปีนี้มีแผนใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีเป้าหมายหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เท่า
โดยในปีนี้บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายในการเป็นต้นแบบผู้เปลี่ยนแปลงโลกด้วยวิถีพลังงานสะอาด โดยการสร้างสรรค์ธุรกิจพลังงานด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทมีแผนการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร โดยมุ่งหวังให้องค์กรสามารถเติบโตได้ทั้งกำรเติบโตจากธุรกิจปัจจุบัน (organic growth) ดังเช่นการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น การร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจจากหลายภาคส่วน การร่วมพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานกับโครงการที่บริษัทเข้าร่วมลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเชีย รวมทั้งการเติบโตจากการเข้ำซื้อกิจการหรือร่วมทุน (Inorganic growth) และจากการลงทุนใหม่ (New investment)
สำหรับการเติบโตจากภายในตามแผนธุรกิจปัจจุบันนั้น บริษัทคาดว่าโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปภัมภ์ (อผศ.) ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/61 และสามารถรับรู้รายได้ด้วยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาที่ 8.94 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์ม Gotemba ตั้งอยู่ที่แขวง Shizuoka ประเทศญี่ปุ่น จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/61 ทั้งนี้ โครงการนี้ได้ทดลองจ่ายไฟเข้าระบบเรียบร้อยแล้ว สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมอยู่ที่ 4.0 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 20 ปี และมีอัตราการรับซื้อไฟแบบ Feed-in-Tariff ที่ 32 เยน-kWh การร่วมเป็นพันธมิตรกับพันธมิตรทางธุรกิจ (business partner) อาทิ (1) บริษัทได้ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบมจ.แสนสิริ (SIRI) เพื่อพัฒนาชุมชน Smart Green Energy Community โดยคาดว่าโครงการนำร่อง โครงการแรกจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 61 (2) บริษัทยังได้ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท Power Ledger จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นกลไกลในการบริหารจัดการซื้อขายไฟผ่านอินเทอร์เน็ตแบบ Peer-to-Peer เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดให้กับโครงการชุมชน Smart Green Energy Community โดยโครงการนำร่องนี้น่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 61
(3) การจับมือกับพันธมิตร 6 หน่วยงาน เพื่อลงนามข้อตกลงกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือนวัตกรรมในการต่อยอด โดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารพลังงานทดแทน รวมทั้งร่วมลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน
สำหรับการเติบโตจากการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน หรือการลงทุนใหม่นั้น บริษัทให้ความสนใจในธุรกิจพลังงานสะอาดในรูปแบบอื่นที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัท ดังเช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลหรือชีวภาพ ฯลฯ เป็นต้น โดยบริษัทใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นของโครงการ (EIRR) ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการที่จะลงทุน โดย EIRR นั้นจะต้องอยู่ประมาณ 12-15%