ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ ของบมจ.เคมีแมน ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ CMAN เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และเริ่มทำการซื้อขาย ในวันที่ 21 มี.ค.61 โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท.และหุ้นชำระแล้ว 960 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 960 ล้านบาท โดยมีจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 240 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 3.84 บาท ช่วงระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.61
CMAN ดำเนินธุรกิจผลิตปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่อง สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า "CHEMEMAN" โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 8 แสนตัน/ปี บริษัทถือเป็นผู้ผลิตรายเดียวที่มีแหล่งวัตถุดิบของตนเอง โดยได้รับประทานบัตรเหมืองแร่หินปูนอายุ 25 ปี (สิ้นสุดมิ.ย. 2583) จากกระทรวงอุตสาหกรรม บนพื้นที่ อ. ทับกวาง จ. สระบุรี ทำให้บริษัทสามารถบริหารต้นทุนวัตถุดิบและควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า บมจ. เคมีแมน เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "CMAN" ในวันที่ 21 มี.ค.61
CMAN มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 960 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 720 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 240 ล้านหุ้น โดย CMAN สามารถระดมทุนผ่าน IPO จำนวน 921.60 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 3,686.40 ล้านบาท โดยมีธนาคารทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.ทิสโก้ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ CMAN เปิดเผยว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตปูนไลม์และเคมีภัณฑ์ต่อเนื่อง เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนาน
การนำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของบริษัทเพื่อรองรับการขยายธุรกิจปูนไลม์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น โครงการขยายกำลังการผลิตในประเทศ การก่อสร้างคลังสินค้าและไซโลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินค้าคงคลัง การร่วมลงทุนกับบริษัทในประเทศอินเดียเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแร่หินปูนเคมีและปูนไลม์ที่เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรมสำคัญ 2 แห่งของประเทศอินเดีย เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน
CMAN มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มศรีวิกรม์ ถือหุ้น 29.73% 2) บริษัท บูรณาชาติ จำกัด ถือหุ้น 26.26% และ 3) กลุ่มอึ๊งภากรณ์ ถือหุ้น 1.36% โดยการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนสถาบัน (Book Building) โดยใช้อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 33.72 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 ปี 2560) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.11 บาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท