บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 มีมติจำหน่ายทรัพย์สิน มูลค่ารวมไม่เกิน 14,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ประกอบด้วย บริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด (PP1) และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (PP3) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมผ่านบริษัท เพซ เรียลเอสเตท จำกัด (PRE) ในสัดส่วน 51.00% และ 51.28% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดตามลำดับ ซึ่งบริษัทได้เข้าทำรายการในวันที่ 10 เม.ย. 61
ทั้งนี้ บริษัททำรายการขายทรัพย์สินของ PP1 และ PP3 ได้แก่ ที่ดิน โรงแรม อาคารจุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ ปฏิมากรรม ภาพวาด ใบอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของ PP1 (โรงแรม) และ PP3 (อาคารจุดชมวิว และ อาคารรีเทลคิวบ์) ในโครงการมหานคร คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 12,617 ล้านบาท
พร้อมทั้งจำหน่ายที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่าง PP1, บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู จำกัด (PP2), PP3 และ PRE คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 183 ล้านบาท
PACE ระบุว่าการเข้าทำรายการครั้งนี้ PACE จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับการจัดหา บริหาร และดำเนินการให้เกิดรายการ เป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการยังอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นที่อพอลโล เอเชีย สปริ้นท์ คอมปานี ลิมิเต็ด (อพอลโล) และโกลด์แมน แซคส์ อินเวสเมนท์ส โฮลดิ้งส์ (เอเชีย) ลิมิเต็ด (โกลด์แมน) ถืออยู่ใน PP1 และ PP3 ในสัดส่วน 49.00% และ 48.72% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวตามลำดับ รวมเป็นเงินไม่เกิน 320 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE เปิดเผยว่า แผนการจำหน่ายสินทรัพย์ในครั้งนี้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าไว้ จากเดิมที่จะนำโครงการมหานครเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งการทำธุรกรรมในครั้งนี้และช่วงเวลานี้ ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที
โดยบริษัทจะนำกระแสเงินสดที่ได้จากธุรกรรมในครั้งนี้ รวมกับกระแสเงินสดจากการขายหุ้นเพิ่มทุนที่สำเร็จเมื่อเดือน ก.พ.61 มูลค่า 3,894 ล้านบาทเพื่อลดหนี้ โดยจะมีผลทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่ให้สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาวต่อไป
นายสรพจน์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะนำกระแสเงินสดส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายสินทรัพย์บางส่วนในโครงการมหานครมาใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายของบริษัทอีก 4 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมดรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยสองโครงการแรกมีการทยอยโอนกรรมสิทธิ์แล้ว สามารถรับรู้รายได้ภายในปี 61 ได้แก่ 1) เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก มียอดแบ็คล็อค 3,280 ล้านบาท และห้องชุดที่รอขายอีกมูลค่าประมาณ 4,281 ล้านบาท 2) โครงการมหาสมุทร วิลล่า มียอดแบ็คล็อค 816 ล้านบาท และมีวิลล่ารอขายมูลค่าประมาณ 3,088 ล้านบาท
ส่วน 3) โครงการนิมิต หลังสวน มียอดขายแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นยอดแบ็คล็อคคิดเป็นมูลค่า 6,709 ล้านบาท และห้องชุดรอขายมูลค่าประมาณ 1,291 ล้านบาท และ 4) โครงการ วินด์เชลล์ นราธิวาส มียอดแบ็คล็อค 792 ล้านบาท และมีห้องชุดรอขายอีกมูลค่าประมาณ 2,208 ล้านบาท โดยทั้งโครงการนิมิต หลังสวน และ โครงการวินด์เชลล์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถโอนและรับรู้รายได้ภายในปี 62
สำหรับโครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ หัวหิน บริษัทมีแผนจะหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมลงทุนและปรับรูปแบบ พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ให้กับโครงการด้วยการเพิ่มจำนวนห้องพักเพื่อทำเป็นโรงแรมเพื่อสุขภาพแบบครบวงจรระดับไฮเอนด์ในคลับเฮ้าส์ (Health & Wellness) โดยปัจจุบัน โครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ มีสมาชิกกว่า 200 สมาชิก
ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ "ดีน แอนด์ เดลูก้า"บริษัทจะนำกระแสเงินสดอีกส่วนหนึ่งมาใช้ลงทุนขยายสาขาในประเทศสหรัฐอเมริกา ในคอนเซ็ปต์ใหม่ภายใต้ชื่อ DEAN & DELUCA xp ส่วนสาขาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเน้นขยายในรูปแบบคาเฟ่ โดยทั้งสองคอนเซ็ปต์นี้เป็นการลงทุนในรูปแบบร้านขนาดเล็กที่เน้นการลงทุนน้อยแต่ได้ประสิทธิผลมากขึ้น และเป็นรูปแบบที่ถูกออกแบบไว้ให้พร้อมขยายได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเดียวกันหากมีดีมานด์ โดยคอนเซ็ปต์ DEAN & DELUCA xp จะเริ่มที่มหานครนิวยอร์คเป็นแห่งแรก
นอกเหนือจากนั้นยังเน้นการขายสิทธิบัตรหรือแฟรนไชส์ ให้กับผู้ประกอบการในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ จำนวน 30 สาขา ใน 9 ประเทศ โดย PACE เป็นเจ้าของกิจการในสหรัฐอเมริกา จำนวน 10 สาขา ในประเทศไทยจำนวน 11 สาขา และถือหุ้น 50% ในดีน แอนด์ เดลูก้าแบบคาเฟ่ที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 17 สาขา
ในปี 60 ดีน แอนด์ เดลูก้า สามารถทำรายได้ที่ 3,142 ล้านบาท และตั้งเป้าที่จะมีกำไรจากกระแสเงินสดภายในปี 61
ด้านนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เปิดเผยว่า การตัดสินใจครั้งนี้เนื่องจากทรัพย์สินต่างๆ ที่ซื้อมาสอดคล้องกับธุรกิจที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทยมีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้บริษัทกล้าตัดสินใจทุ่มงบประมาณ 14,000 ล้านบาทในครั้งนี้ และมั่นใจว่าจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจในกลุ่ม คิง เพาเวอร์ ให้มีความมั่งคงยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทรัพย์สินที่กลุ่ม คิง เพาเวอร์ ได้เข้าครอบครองในครั้งนี้นั้นจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับสากล รวมถึงพร้อมที่จะรองรับการเติบโตของประชาคมอาเซียนในอนาคต
โดยจากจุดแข็งของทรัพย์สินที่ได้มา ตึกมหานครเป็นหนึ่งในอาคารที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพ และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาใช้บริการ อาทิ จุดชมวิว Observation Deck ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดในประเทศไทยที่เห็นวิว 360 องศาทั้งวิวเมืองและโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา และเพียบพร้อมด้วยบริการต่างๆ อีกมากมาย ทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีชื่อเสียง และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจากทั้งในและนอกประเทศ พร้อมที่จะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพมหานครต่อไป
"การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการเดินหน้าเพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต และพร้อมปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ การค้า และศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต่อไป"นายอัยยวัฒน์ กล่าว