บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) แจ้งว่าเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) บริษัทได้ลงนามในสัญญาเข้าลงทุน (Investment Agreement) กับ Camanor Produtos Marinhos Ltda. (Camanor) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศบราซิล และกลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบันของ Camanor โดยตามสัญญาดังกล่าวบริษัทได้ตกลงซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ Camanor จำนวน 40% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงภายหลังการเพิ่มทุนของ Camanor รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 547 ล้านบาท โดยคาดว่ารายการจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ลงนามในสัญญา
ภายหลังการเพิ่มทุน Camanor จะมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วรวม 11.67 ล้านเรียลบราซิล โดยมีบุคคลธรรมดา 3 ราย ถือหุ้น 60% และ CPF ถือหุ้น 40% โดย Camanor ประกอบธุรกิจฟาร์มกุ้งและแปรรูปกุ้งขั้นต้นในประเทศบราซิล ซึ่งผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กุ้งสดและกุ้งแปรรูปแช่แข็ง จำหน่ายผ่านช่องทางค้าส่งในประเทศบราซิลและส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้คิดค้นและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งระบบปิดชื่อ AquaScience ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงกุ้งความหนาแน่นสูง หมุนเวียนการใช้น้ำโดยไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อ ให้ผลผลิตต่อพื้นที่การเลี้ยงสูง
ทั้งนี้ สำหรับแหล่งเงินลงทุนของ CPF ครั้งนี้จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นการลงทุนเพื่อร่วมศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงกุ้ง จากการที่ผู้บริหาร Camanor เป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจระยะเวลานาน ได้พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งที่ทันสมัยให้ผลผลิตต่อพื้นที่การเลี้ยงสูง เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านพันธุ์กุ้งของ CPF แล้วจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งให้มีต้นทุนลดลงได้
นอกจากนั้น ประเทศบราซิลเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตอาหารกุ้ง และมีศักยภาพทางการตลาดสูงจากจำนวปนระชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึงยังสามารถใช้เป็นฐานการส่งออกกุ้งแปรรูปในอนาคต อีกทั้งการลงทุนใน Camanor ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้จะเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งผลิตกุ้งของ CPF ด้วย นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ของ CPF เปิดเผยว่า Camanor เป็นบริษัทมีประสบการณ์ทางการตลาดสูงและเป็นเจ้าของนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งความหนาแน่นสูงในระบบปิด "AquaScience" ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงกุ้งที่ทันสมัยให้ผลผลิตต่อพื้นที่การเลี้ยงสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านพันธุ์กุ้งของบริษัท จะช่วยสร้างเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตกุ้งและการตลาดกุ้งของทั้งสองบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคง
"การซื้อหุ้นครั้งนี้ จะเป็นการผนึกกำลังเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจกุ้งให้กับซีพีเอฟ ทั้งด้านการผลิตอาหารกุ้ง การพัฒนาสายพันธุ์ การขยายการผลิต ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทสู่การเป็นครัวของโลก และการเติบโตอย่างยั่งยืน" นายอดิเรก กล่าว
นายอดิเรก กล่าวต่อไปว่า การมีพันธมิตรในบราซิลจะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจกุ้งได้อย่างมั่นใจ และสามารถต่อยอดขยายธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำและโรงเพาะฟักลูกกุ้ง เพื่อรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งของประเทศบราซิลที่มีการผลิตภายในประเทศเพียง 100,000 ตัน/ปียังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
ทั้งนี้ ประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงจากขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากร และเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตอาหารกุ้ง ซึ่งยังมีโอกาสให้บริษัทสามารถต่อยอดลงทุนในธุรกิจกุ้งที่ CPF มีประสบการณ์ยาวนานและเป็นผู้นำตลาดทั้งในการผลิตอาหารกุ้ง และการเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจสัตว์น้ำในอนาคต