(เพิ่มเติม) บลจ.ไทยพาณิชย์ เผยราคาสุดท้ายจองซื้อหน่วยลงทุนกองทุน DIF ที่ 13.90 บาท/หน่วย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 15, 2018 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพิจิตตรา ไตรรัตนธาดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund :DIF) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการแจ้งช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น (Preliminary Offering Price Range) ของ DIF รวมถึงวิธีการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้มีการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายสำหรับหน่วยลงทุนใหม่อยู่ที่ 13.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สาย Primary Distribution ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน Sole Global Coordinator และผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศของ DIF ในการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เปิดเผยว่า หลังจากที่กองทุน DIF ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นของหน่วยลงทุนใหม่ที่ 13.60-13.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งเปิดให้นักลงทุนทั้งกลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมและประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ เมื่อวันที่ 2-11 พ.ค.61 ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากนักลงทุนทุกกลุ่ม โดยมียอดรวมการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่เกินกว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขาย

ทั้งนี้ หลังจากสำรวจความต้องการจองซื้อของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuild) ได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายของหน่วยลงทุนใหม่ที่ 13.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น โดยเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะถูกนำไปลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 3 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 55,236 ล้านบาท ซึ่งมาจากการระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ครั้งนี้จำนวน 53,236 ล้านบาท และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีก 2,000 ล้านบาท

นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีม Markets Sales and Product Solutions สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า การเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ของกองทุน DIF ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมากและดีกว่าที่คาดหมายไว้ ส่งผลให้กองทุน DIF สามารถปิดการขายหน่วยลงทุนใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

หลังจากนี้จะประกาศผลการจัดสรรหน่วยลงทุนในวันที่ 16 พ.ค.61 ซึ่งผู้จองซื้อสามารถตรวจสอบผลการจัดสรรดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ www.settrade.com หรือสำนักงานของบริษัทจัดการกองทุน DIF หรือผู้จัดการการจัดจำหน่ายลงทุนในประเทศทั้ง 3 ราย ตามที่ผู้จองซื้อได้ทำการจองซื้อหน่วยลงทุนไว้ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารกรุงเทพ (เฉพาะเวลาทำการ)

นายประเสริฐ ดีจงกิจ SVP ผู้จัดการ ฝ่ายทุนธนกิจ สายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า มีการจองซื้ออย่างคึกคักจากนักลงทุนทุกกลุ่ม ซึ่งปัจจัยมาจากนักลงทุนมีความมั่นใจในศักยภาพและผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนที่สามารถจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยลงทุน (DPU) ให้แก่ผู้ถือหน่วยได้อย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 57-60 จึงเชื่อมั่นว่าหลังจากเข้าลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล กล่าวว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมและนักลงทุนรายใหม่สนใจจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ของ DIF เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในทรัพย์สินและศักยภาพของกองทุนฯ ซึ่งหลังจากลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้จะส่งผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยหลังจากที่ปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ของกองทุน DIF ได้เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุน DIF หลังจากนำหน่วยลงทุนใหม่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เนื่องจากกองทุน DIF ลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่สามารถนำไปจัดหาผลประโยชน์จากการปล่อยเช่าแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ทันที เพื่อสร้างผลตอบแทนและจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ โดยหลังจากการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 นี้ จะทำให้กองทุน DIF เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา กรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาวและสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงประมาณ 2.6 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต โดยมีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 175,042 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน จะส่งผลให้กองทุน DIF มีศักยภาพที่โดดเด่นหลายด้าน ได้แก่ 1. มีทรัพย์สินขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ 2. ประมาณการเงินปันผลต่อหน่วยลงทุน (ตั้งแต่ 1 ก.ค.61-30 มิ.ย.62) จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1.04 บาทต่อหน่วย เทียบกับปี 60 (ม.ค.-ธ.ค.) อยู่ที่ 0.98 บาทต่อหน่วย 3. ทรัพย์สินในกองทุน DIF มีอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักยาวนานขึ้นเป็นประมาณ 20 ปี ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านรายได้และการจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในระยะยาว

4. กองทุน DIF มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มทรูซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมรายใหญ่และเป็นผู้เช่าหลักของกองทุน DIF และ 5. กองทุน DIF อยู่ในสถานะที่ดีที่มีโอกาสได้รับผลกระทบในเชิงบวกทางอ้อมจากภาวะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการใช้บริการข้อมูลและอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตและระบบบรอดแบนด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการผลักดันประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านความต้องการในการเช่าจากผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้กระแสรายได้ของกองทุน DIF ที่จะได้รับจากผู้เช่ารายอื่นเติบโตขึ้น

"นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน DIF มีผลการดำเนินงานที่ดีมาตลอด สะท้อนจากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ณ สิ้นปี 56-60 อยู่ที่ 10.0471, 12.4161, 12.3241, 14.6191 และ 15.5630 บาทต่อหน่วย และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย จึงมั่นใจว่า DIF มีศักยภาพที่ดี" นายสมิทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ