KTB เผยกำไร Q2/61 โต 139.35% หลังตั้งสำรองลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 20, 2018 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงไทย (KTB) รายงานว่า ในไตรมาส 2/61 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 7,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,490 ล้านบาท หรือ 139.35% จากไตรมาส 2/60 ซึ่งกำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยในไตรมาสนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ด้วยเช่นกัน

ในไตรมาส 2/61 ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เท่ากับ 20,812 ล้านบาท ลดลง 1,042 ล้านบาท หรือ 4.77% จากไตรมาส 2/60 จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) ลง 0.50% ในเดือนพฤษภาคม 2560 ประกอบกับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่งเริ่มขยายตัว ธนาคารและบริษัทย่อยมีอัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับ 3.10% ลดลง 0.29% จากไตรมาส 2/60 ซึ่งเท่ากับ 3.39% อย่างไรก็ตาม NIM ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ในไตรมาส 2/61 ธนาคารและบริษัทย่อยมีการตั้งหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 6,769 ล้านบาท ลดลง 7,109 ล้านบาท หรือ51.22% จากไตรมาส 2/60 โดยในไตรมาสที่ 2/60 มีการกันสำรองค่อนข้างสูงสำหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ดี ธนาคารมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงรักษาระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio)ในไตรมาส 2/61 เท่ากับ 123.54% ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2560 ที่ 121.71% เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ความระมัดระวัง

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 14,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,738 ล้านบาท หรือ 23.28% จากช่วงเดียวกันของปี 2560

ธนาคารมุ่งเน้นการรักษาระดับของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้มีความเข้มแข็งโดย ณ 30 มิถุนายน 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เท่ากับร้อยละ 123.54 โดยธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการกันสำรองค่อนข้างสูงสำหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่ง สำหรับ NPL Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 4.52 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.19 และ NPL Ratio – Net เท่ากับร้อยละ 1.88 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.77 ณ 31 ธันวาคม 2560 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้า SMEs ในบางอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ธนาคารได้พิจารณาถึงเกณฑ์การจัดชั้นเชิงคุณภาพประกอบด้วยเช่นกัน

แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ลดลง 2,636 ล้านบาท หรือ 5.99% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) ลงร้อยละ 0.50 ในเดือนพฤษภาคม 2560 ประกอบกับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่งเริ่มขยายตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับ 3.09% ลดลง 0.36% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 3.45 อย่างไรก็ดี NIM ในไตรมาส 2/2561 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา จาก 3.07% เป็น 3.10%

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เพิ่มขึ้น 518 ล้านบาท หรือ 4.51% อย่างไรก็ตาม การเติบโตของค่าธรรมเนียมและบริการเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 2/61 จากผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต การโอนเงินต่างธนาคาร การจ่ายบิลค่าสินค้า และบริการเติมเงินผ่าน KTB netbank

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยขยายตัวในหลายหมวดสินค้า การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ภาคเกษตรกรรมที่เริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวขึ้นตามการขยายตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวดีทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ