GGC ลุ้นมูลค่าความเสียหายจากวัตถุดิบคงคลังหายอาจน้อยกว่า 2.1 พันลบ.หากติดตามทวงคืนได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 1, 2018 09:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) เผยผลตรวจสอบกรณีวัตถุดิบคงคลังหาย พบเหตุไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบหรือส่งมอบเพียงบางส่วน ซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบร่วมกันของคู่ค้าบางรายกับพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัท รวมถึงส่วนที่บริษัทจัดส่งไปให้คู่ค้า เพื่อทำการจ้างกลั่น แต่คู่ค้าไม่ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่จ้างกลั่นให้ตามสัญญาและไม่ส่งมอบคืนวัตถุดิบให้บริษัทด้วย อย่างไรก็ตามการประเมินมูลค่าความเสียหายในวงเงินราว 2,100 ล้านบาทนั้น อาจจะลดลงต่ำกว่านั้นได้ หากสามารถทวงถามวัตถุดิบที่ยังไม่ได้ส่งมอบกลับมาได้

ขณะที่เบื้องต้นบริษัทได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายตามมติคณะกรรมการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายนอกและภายในไปแล้ว รวมถึงได้สอบสวนทางวินัยกับพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย ตลอดจนให้นโยบายการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยเน้นลดระดับการพึ่งพาบุคคลภายนอก

GGC เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาที่ตรวจพบในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยในส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการด้านวัตถุดิบคงคลังนั้น เนื่องจากสินค้าหลักของบริษัทคือ เมทิลเอสเทอร์ และแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งวัตถุดิบที่จะต้องใช้คือ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทอาจจัดหาวัตถุดิบเป็นน้ำมันบริสุทธิ์พร้อมใช้งานแล้ว หรือวัตถุดิบที่ต้องไปผ่านกระบวนการสกัด หรือกลั่นให้บริสุทธิ์ก่อนใช้งาน เช่น เมล็ดในปาล์ม น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง บริษัทต้องส่งวัตถุดิบดังกล่าวไปยังโรงสกัด หรือโรงกลั่นที่บริษัทว่าจ้างเพื่อทำให้บริสุทธิ์ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของบริษัท

ทั้งนี้ ในการเลือกวิธีการจัดหาไม่ว่าจะเป็นแบบใด บริษัทจะพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนรวมของแต่ละวิธี เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถแข่งขันได้ในตลาด ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเก็บวัตถุดิบบางส่วนไว้ภายนอก ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทพบปัญหาต่อวัตถุดิบคงคลังดังกล่าว ซึ่งบริษัทใช้หลักแบ่งแยกหน้าที่ สำหรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านวัตถุดิบคงคลัง เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีการควบคุมที่เพียงพอ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบ กระบวนการรับมอบและจัดเก็บวัตถุดิบคงคลัง และกระบวนการอนุมัติจ่ายค่าวัตถุดิบ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณวัตถุดิบคงคลังในระบบสูงกว่าปริมาณที่มีอยู่จริงในสถานที่จัดเก็บนั้น เกิดขึ้นจากการที่บริษัทได้สั่งซื้อวัตถุดิบจำนวนหนึ่งและทำการลงบันทึกในระบบของบริษัทว่าได้รับมอบวัตถุดิบมาเป็นวัตถุดิบคงคลังแล้วตามปริมาณที่สั่งซื้อ แต่ในความเป็นจริงไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบหรือส่งมอบเพียงบางส่วน โดยเป็นการกระทำอันมิชอบร่วมกันของคู่ค้าบางรายกับพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัท

ทั้งนี้ ยังรวมถึงส่วนที่บริษัทจัดส่งวัตถุดิบให้คู่ค้าเพื่อจ้างกลั่น แต่ปรากฎภายหลังว่าคู่ค้าไม่ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่จ้างกลั่นให้ตามสัญญา และไม่ส่งมอบคืนวัตถุดิบให้บริษัทด้วย

ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทได้จ่ายค่าวัตถุดิบโดยไม่ได้รับมอบ รวมถึงไม่ได้รับคืนวัตถุดิบที่จัดส่งไปยังคู่ค้า ซึ่งประเมินไว้ว่าอยู่ในวงเงินราว 2,100 ล้านบาท ซึ่งค่าเสียหายของบริษัทจะลดลงต่ำกว่าจำนวน 2,100 ล้านบาทที่ประเมินไว้ โดยบริษัทมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกคืนเงินค่าวัตถุดิบที่ได้ชำระไปโดยไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบ หรือสามารถทวงถามให้มีการส่งมอบวัตถุดิบที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

นอกจากนี้ยังมีกรณีการเรียกเก็บเงินที่บริษัท ได้รับแจ้งจากบุคคลภายนอกที่ได้รับโอนสิทธิการรับชำระเงินค่าวัตถุดิบไปจากคู่ค้าบางราย ซึ่งบริษัทได้พิจารณาจากเอกสารที่ได้รับแจ้างมาแล้วพบว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบของบริษัท และไม่พบหลักฐานการส่งมอบวัตถุดิบตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าว ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทมีความเห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมาย บริษัทไม่น่าจะมีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินค่าวัตถุดิบ หากไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบให้แก่บริษัทตามที่มีการเรียกให้ชำระราคาดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงชี้ชัดเป็นอย่างอื่น บริษัทจึงได้สั่งการให้ที่ปรึกษากฎหมายทำการศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แน่ชัด เพื่อที่บริษัทจะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

การพบข้อมูลว่าวัตถุดิบคงคลังมีปริมาณที่ขาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการบริษัทเร่งรัดให้ฝ่ายจัดการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ช่วงประมาณกลางปี 60 แต่ในปี 60 บริษัทไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าปริมาณวัตถุดิบคงคลังขาดหายไป ต่อมาในเดือนมิ.ย.61 ภายหลังจากที่ได้รับรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาวัตถุดิบและได้มีมติให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่ตรวจพบในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.61 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกเพิ่มเติมและได้รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ดำเนินการทางกฎหมายกับบคุคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสอบสวนทางวินัยต่อพนักงานทุกระดับที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.61 บริษัทได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายตามมติคณะกรรมการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายนอกและภายในไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้สอบสวนทางวินัยกับพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปควบคู่กันด้วย รวมถึงให้นโยบายในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวในอนาคต โดยเน้นการลดระดับการพึ่งพาบุคคลภายนอก

บริษัทเชื่อว่าระบบควบคุมภายใน ซึ่งใช้หลักแบ่งแยกหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำจากการคิดมิชอบดังกล่าว และการไปตรวจนับปริมาณวัตถุดิบคงคลังที่บริษัทจัดเก็บไว้ทั้งภายในและภายนอกเป็นครั้งคราวนั้น มีประสิทธิภาพและมีความเพียงพอตามมาตรฐานทั่วไปของระบบควบคุมภายในแล้ว แต่ปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกรณีที่มีสาเหตุสำคัญจากการกระทำอันมิชอบร่วมกันระหว่างคู่ค้ากับพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัท โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงานซึ่งเป็นปัญหาในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระบบควบคุมภายในที่กำหนดไว้ในทุกองค์กร

อย่างไรก็ตามบริษัทได้รับทราบสาเหตุของปัญหาโดยละเอียดแล้ว เชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงขั้นตอนและระบบต่าง ๆ ให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สามารถป้องกันปัญหาในลักษณะเดิมหรือการกระทำอันมิชอบในลักษณะอื่น ๆ มิให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงช่วยส่งเสริมการควบคุมภายในและช่วยให้กระบวนการตรวจสอบสามารถพบปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงจะได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกเพื่อดำเนินการทบทวน สอบทาน รวมถึงให้ความเห็นในการปรับปรุงระบบควบคุมภายในของบริษัทในเรื่องกระบวนการจัดหาวัตถุดิบทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้เกิดการรัดกุมมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัทและผู้เชี่ยวชาญ อยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินการควบคุมภายในของกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการบริหารสินค้าคงคลัง ซึ่งคาดว่าจะสรุปความเห็นและประเด็นที่ตรวจพบได้ภายในประมาณต้นเดือน ส.ค.61 สำหรับการดำเนินงานในภาพรวมนั้นจะมีหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมสรุปประเด็นที่จะเสนอให้มีการปรับปรุงขั้นตอนและระบบต่าง ๆของบริษัทภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของคณะกรรมการตรวจสอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ