TOP เผยกำไร Q2/61 โต 47.5% จากงวดปีก่อน รับผลบวกกำไรจากสต็อน้ำมันหนุน ,คาดตลาดพาราไซลีนฟื้นตัว Q3/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 7, 2018 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้น 47.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันลดลง รวมถึงการใช้กำลังการกลั่นลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุง แต่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสิ้นสุดไตรมาสทำให้มีกำไรจากสต็อกน้ำมันเข้ามาชดเชย เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในงวดเดียวกันของปีก่อน ผลักดันให้ GIM เมื่อรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้น

สำหรับในไตรมาส 2/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 3,250 ล้านบาทในไตรมาส 2/60 และมีรายได้จากการขาย 96,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 80,053 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้เพิ่มขึ้น 16,657 ล้านบาท จากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมากตามราคาน้ำมันดิบและปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยรวมที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม GIM ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 8.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในงวดปีก่อน หรือลดลง 2.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงหลังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบ และ Crude Premium ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับ ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง รวมทั้งส่วนต่างราคาสารอะโรเมติกส์กับน้ำมันเบนซิน 95 และส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตาได้ปรับลดลงเช่นกัน

แต่ในส่วนของ GIM ที่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน ในไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 10.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 6.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในงวดปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 4.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดสิ้นไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 73.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปิดสิ้นไตรมาส 1/61 ที่ 62.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในไตรมาส 2/60

อีกทั้งมีกำไรจากอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 3,560 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้โรงกลั่นไทยออยล์มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิเทียบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิในไตรมาส 2/60 และมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการซื้อคืนหุ้นกู้ เมื่อหักค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายภาษีเงินแล้ว ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,545 ล้านบาทจากไตรมาส 2/60

ในไตรมาส 2/61 โรงกลั่นไทยออยล์มีอัตราการใช้กำลังการกลั่นลดลง 4% จากไตรมาส 2/60 เนื่องจากหน่วยกลั่นน้ำมันดิบหน่วยที่ 1 และหน่วยผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องหยุดซ่อมบำรุงตามวาระในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนมิถุนายน

สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3/61 จะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสหรัฐฯ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย ก่อนที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/61 โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกจากประเทศอิหร่านที่มีแนวโน้มลดลง หลังประเทศต่าง ๆ ปรับลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบก่อนกำหนดการคว่ำบาตรอิหร่านในวันที่ 4 พ.ย.61 ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของอิหร่านปรับลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจและความไม่สงบในประเทศ

ส่วนตลาดพาราไซลีนในช่วงไตรมาส 3/61 คาดว่าจะฟื้นตัวจากไตรมาส 2/61 แม้จะหมดฤดูกาลผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวด PET สำหรับหน้าร้อนก็ตาม เนื่องจากโรง PTA ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของพาราไซลีนกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงทั้งตามแผนและไม่ตามแผนเป็นที่เรียบร้อยแล้วทำให้ความต้องการใช้สารพาราไซลีนฟื้นตัวดีขึ้น

สำหรับตลาดเบนซีนในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะทรงตัวถึงฟื้นตัวเล็กน้อยจากไตรมาส 2/61 เนื่องจากตลาดยังรับแรงหนุนจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำทั้งในจีนและสหรัฐฯ หลังสิ้นสุดการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงกลางไตรมาสซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ซื้อกลับเข้ามาซื้อเบนซีนเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำและพลาสติกเพื่อใช้ผลิตของขวัญสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

ด้านแผนการลงทุนในอนาคตที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ได้แก่ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัท ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้มากและหลากหลายชนิดขึ้น ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) และลดต้นทุนวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย

โดยโครงการมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท และมีประมาณการดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 1/66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ