IFEC ชี้แจงเจ้าหนี้ที่ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการมาจากการซื้อหนี้หุ้นกู้วงเงิน 10 ลบ.อ้างให้ข้อมูลความสัมพันธ์ไม่ได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 31, 2018 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรณีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลางตามที่ ตลท.สอบถามมา ดังนี้

ข้อ 1. ข้อมูลของเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ชื่อเจ้าหนี้ มูลหนี้ที่บริษัทเป็นหนี้เจ้าหนี้รายดังกล่าว บุคคลดังกล่าวเริ่มเป็นเจ้าหนี้บริษัทตั้งแต่เมื่อไรและอย่างไร ในกรณีที่รับโอนหนึ้มาจากเจ้าหนี้รายอื่นขอให้ระบุชื่อของผู้โอน รวมถึงความสัมพันธ์กับบริษัท ผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารของ IFEC ทั้งในอดีตและปัจจุบัน (ถ้ามี) ของเจ้าหนี้ทื่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและของผู้โอนหนี้ดังกล่าว

บริษัทชี้แจงว่าในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่บริษัทได้รับเมื่อวันที่ 25 ส.ค.61 นั้น ปรากฏรายละเอียดในส่วนนี้เพียงว่า เจ้าหนี้ผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ชื่อนางสมศรี จีระวิพูลวรรณ ผู้ร้องได้ซื้อหนี้หุ้นกู้จากผู้ถือหุ้นกู้รายเดิม จำนวน 10 ล้านบาท โดยได้ชำระราคาและรับมอบใบหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือและได้รับสลักหลังจากผู้ถือใบหุ้นเดิมโดยถูกต้องแล้ว อ้างความเป็นเจ้าหนี้โดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งบริษัท จะได้ตรวจสอบ ความถูกต้องแห่งการอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าหนี้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีอำนาจพาดพิงบุคคลใด กรณีที่ ตลท.สอบถามด้านความสัมพันธ์ใดๆ กับบริษัท ผู้ถือหุ้นกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทขออภัยที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ ของบริษัทตามกฎหมายในการที่จะดำเนินการดังกล่าว

ข้อ 2. สาระสำคัญของคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เช่น วันที่ยื่นคำร้องฯ สาเหตุที่เจ้าหนี้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ มูลหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ถ้ามี) โดยขอให้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำแผนฯ กับเจ้าหนี้และบริษัทด้วย

บริษัทชี้แจงว่าตามข้อมูลโดยละเอียดในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่บริษัทได้รับเมื่อวันที่ 25 ส.ค.61 นั้น โดยมีสาระสำคัญว่า เจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท เมื่อวันที่ 16 ส.ค.61 ซึ่งตามคำร้องปรากฏสาเหตุที่เจ้าหนี้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการว่าบริษัทมีภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระเพิ่มขึ้นและมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลง ทำให้บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ หากบริษัทไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลจะไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้ได้

และปรากฎสาระสำคัญของช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการว่า ธุรกิจของบริษัทยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้และมีแนวโน้มขยายตัวทางการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าธุรกิจบริหารจัดการขยะ และธุรกิจโรงแรมและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจของกลุ่มดาราเทวี เชียงใหม่ ซึ่งบริษัทมีโอกาสที่จะขยายฐานการลงทุนและสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้นได้

ดังนั้นหากบริษัทสามารถทำการปรับโครงสร้างหนี้และมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะเพิ่มโครงการผลิตไฟฟ้าทางเลือก การประกอบกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์และอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของตลาด ธุรกิจของบริษัทก็จะสามารถฟื้นตัวเป็นปกติได้ โดยเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้เสนอให้นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ทำแผน

ข้อ 3. ตามข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งเป็นงบการเงินฉบับล่าสุดที่ IFEC เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.60 ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทมีสินทรัพย์รวม 12,630 ล้านบาท หนี้สินรวม 9,3 44 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 3,227 ล้านบาทนั้น ขอให้บริษัทชี้แจงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่เป็นปัจจุบันของบริษัทว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ อย่างไร

บริษัทขอชี้แจงว่า บริษัทได้เปิดเผยงบการเงินฉบับล่าสุดต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คืองบการเงินประจำปี 2559 ในส่วนของงบการเงินประจำปี 2560 และงบการเงินประจำปี 2561 ของบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยยังมิได้ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชี

ข้อ 4. แนวทางและกรอบระยะเวลาที่บริษัทต้องดำเนินการต่อศาลฯ ภายหลังถูกยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

บริษัทชี้แจงว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้รับทราบหมายแจ้งคำสั่งของศาลล้มละลายกลางว่า บริษัทได้ถูกยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ต.ค.61 เวลา 09.00 น.และมีคำสั่งให้บริษัทยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่ โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนและให้ไปศาลตามกำหนดนี้ ซึ่งคำสั่งศาลดังกล่าว คือ แนวทางและกรอบระยะเวลาที่บริษัทจะต้องดำเนินการ และกำลังดำเนินการอยู่ ณ ขณะนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณาถึงการดำเนินการทางกฎหมายในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของบริษัททุกราย

ทั้งนี้ เมื่อบริษัทมีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวที่ได้แจ้งไว้เป็นประการใด บริษัทจะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพยแห่งประเทศไทยต่อไปโดยทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ