บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) กับบมจ.ทีโอที โดยล่าสุดคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้บริษัทชำระค่าผิดสัญญาให้แก่ทีโอที เป็นเงินต้นรวมกว่า 76,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ขณะที่บริษัทเตรียมดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามที่เมื่อวันที่ 28 ต.ค.48 บมจ.ทีโอที ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ระบุว่าบริษัทละเมิดข้อตกลงในสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โดยให้บริการหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.61 บริษัทได้รับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้มีคำชี้ขาดให้บริษัทชำระเงินค่าผิดสัญญาให้แก่ทีโอที 1) ตั้งแต่เดือนก.ย.44 ถึงส.ค.58 เป็นจำนวน 59,120.65 ล้านบาท และ ดอกเบี้ยจำนวน 16,978.65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 6.6875 ต่อปี จากต้นเงิน 59,120.65 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนก.ย.58 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และ 2) ให้ชำระเงินตั้งแต่เดือนต.ค.58 ถึงธ.ค.60 จำนวน 17,076.92 ล้านบาท และ ดอกเบี้ยจำนวน 1,298.05 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 6.6875 ต่อปี จากต้นเงิน 17,076.92 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนม.ค.61 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และบริษัทได้พิจารณาแล้ว ไม่เห็นพ้องกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ประกอบกับคำชี้ขาดดังกล่าวถูกชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมาก โดยคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย ซึ่งบริษัทจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
นอกจากนี้บริษัท ยังไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อกรณีการเรียกให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จำนวน 3,381.95 ล้านบาท โดยจะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่สามารถกระทำได้ต่อไป