บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค แจ้งว่าตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เกี่ยวเรื่องการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมย่านความถี่ 850 MHz ว่าให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ หรือบริษัทในเครือต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่ง กสทช.กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลว่าหากบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ใช้บริการก็จะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองและไม่สามารถใช้โครงข่ายย่านคลื่นความถี่ 850 MHz MHz ได้ภายหลังวันที่ 15 กันยายน 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดสัมปทาน และปรากฏต่อมาว่า ไม่มีผู้ใดยื่นคาขอเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz 900 MHz 900 MHz ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
บริษัทฯ แจ้งว่า ขณะนี้ ใกล้ถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการโทรคมนาคมบนโครงข่ายย่าน 850 MHz ได้ต่อไปภายหลังวันที่ 15 กันยายน 2561 อันเป็นไปตามสิทธิตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ในวันนี้ บริษัทฯจึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ดังกล่าว และพร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและ/หรือกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยา
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ของดีแทค กล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางดังกล่าวเพื่อขอให้ลูกค้าดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนคลื่น 850 MHz จนกว่า กสทช. จะนำไปจัดสรรประมูลตามความเหมาะสมต่อไป
จากการที่คลื่นความถี่ดีแทคกำลังจะสิ้นสุดสัมปทาน 27 ปีที่ให้บริการ และดีแทคมีหนังสือถึง กสทช. เรียกร้องให้ทบทวนมติเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหลายครั้ง โดย กสทช. ยังไม่ได้มีมติใด ๆ ขณะที่เหลืออีกเพียง 9 วันก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ดีแทคจึงต้องยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของ กสทช. ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าดีแทคในการใช้งานคลื่น 850 MHz
"ดีแทคได้พิจารณาถึงสถานการณ์และแนวทาง กสทช. ในขณะนี้โดยเชื่อว่ายังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ แม้ว่าจะมีการกำหนดในประกาศฯ ของ กสทช. และตัวอย่างที่ผ่านมากับผู้ประกอบการรายอื่น ดังนั้น เพื่อให้ลูกค้าดีแทคได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการคุ้มครองชั่วคราว เราจึงต้องดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อลูกค้าของเรา"
ดีแทคมีลูกค้าในระบบสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) จำนวน 90,000 ราย โดยมีลูกค้าดีแทคไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Domestic Roaming) บนคลื่น 850 MHz ทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการใช้งานของลูกค้า ซึ่งถือว่าทั้ง กสทช. ดีแทค และ CAT มีหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบในการที่จะต้องให้บริการตามประกาศ กสทช. อีกด้วย
ที่ผ่านมา ดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เพื่อปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของดีแทคเป็นระยะเวลา 9 เดือน และ 26 เดือน แต่กรณีดีแทคกำลังจะหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz กสทช. ได้มีเงื่อนไขในการอนุมัติการคุ้มครองถ้าดีแทคเข้าประมูลคลื่น 900 MHz
"ที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเงื่อนไขและสถานการณ์ที่จะปฏิเสธการคุ้มครองผู้ใช้งานมือถือ สำหรับลูกค้าดีแทคได้ใช้งานคลื่น 850 MHz แต่การนำคลื่นมาประมูลเป็นคลื่น 900 MHz ซึ่งไม่ใช่คลื่น 850 MHz ในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาประมาณ 24 เดือนเพื่อการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่จำนวนมากกว่าหมื่นแห่ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ที่จัดขึ้นเนื่องด้วยเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดขึ้นเป็นเรื่องที่ปฎิบัติไม่ได้" นายราจีฟ กล่าว
นายราจีฟ กล่าวว่า ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิการใช้งานของลูกค้าดีแทคบนคลื่น 850 MHz รายได้จากการให้บริการที่เกิดขึ้นในช่วงการคุ้มครองจะถูกนำส่งให้รัฐหลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้รัฐไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ แต่ถ้าทิ้งคลื่นไม่ใช้งานจะนำความเสียหายมาสู่ทั้งรัฐและผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การคุ้มครองการใช้งานชั่วคราวจึงเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
ดีแทคจะดำเนินการแจ้งลูกค้าในรายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองคลื่นความถี่จาก กสทช. โดยดีแทคกำลังเร่งขยายพื้นที่การให้บริการทั้งคลื่น 2100 MHz และ คลื่น 2300 MHz ของทีโอที อย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายราจีฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการของแผนเยียวยาคือถ้ามีผู้ใช้งานคลื่นความถี่อยู่ และคลื่นนั้นยังไม่ถูกเอาไปประมูล ผู้รับสัมปทานต้องให้บริการต่อไป กสทช.ได้จัดประมูลคลื่น 900 MHz ขณะที่ DTAC ต้องการใช้งานคลื่น 850 MHz ซึ่งอยู่ใกล้กัน การที่ DTAC ต้องการใช้คลื่นในย่าน 850 MHz จึงน่าจะมีเหตุผลให้ได้รับการเยียวยา
"ถ้าไม่ได้มาตรการเยียวยาลูกค้าทั้ง 21 ล้านรายจะไม่ได้รับผลกระทบมีเพียงลูกค้าที่ใช้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ที่จะหมดสัมปทานประมาณ 3.4 แสนราย โดยจำนวนนี้ 90,000 ราย ใช้งานบนคลื่น 850 MHz ซึ่งซิมจะดับแน่ อย่างไรก็ดี DTAC ประเมินว่าผลกระทบจริงๆที่จะกระทบกับผู้ใช้งานในย่านความถี่ต่ำทั้งหมดประมาณ 1 ล้านราย"
ส่วนกรณีที่ กสทช.จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz อีกครั้งในปีนี้ โดยได้ปรับปรุงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การประมูลแล้ว ซึ่ง DTAC สนใจอย่างยิ่งที่จะเข้าประมูลเพราะต้องการคลื่นความถี่ในย่านความถี่ต่ำ
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงข่าย DTAC ได้เร่งขยายเสาสัญญาณ คลื่นดีแทคเทอร์โบ 2300 MHz ของทีโอทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลื่นดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการดาวน์โหลดสูงสุดในประเทศไทยด้วยความกว้างแบนด์วิดท์ถึง 60 MHz และปัจจุบันสามารถให้บริการครอบคลุม 40% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 1800 MHz
ขณะเดียวกัน DTAC ยังได้เร่งขยายโครงข่าย 2100 MHz อย่างเต็มความสามารถ เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 850 MHz และยังได้ย้ายลูกค้าจำนวน 340,000 ราย ที่ยังใช้ซิมดีแทคเดิมให้เปลี่ยนมาใช้ซิม DTN ภายใต้ระบบใบอนุญาต นอกจากนี้ DTAC ยังได้แบ่งประเภทของลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยจัดตั้งทีมทำงานขึ้นมาดูแลลูกค้าเป็นพิเศษในช่องทางศูนย์บริการ และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะได้รับข้อเสนอ ฟรีดาต้าและโทรฟรีโดยขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบในการใช้งานของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม DTAC ขอแนะนำให้ลูกค้ามาใช้บริการบนคลื่น 2300 MHz ดีแทคเทอร์โบ ซึ่งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ลื่นขึ้น โดยดีแทคกำลังเร่งขยายโครงข่าย 2300 MHzให้ครบทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานบนคลื่น 2300 MHz ได้อย่างมีประสิทธิภาพในกลางปี 2562