บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. คาดปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 310,000 บาร์เรลต่อวัน หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำได้แล้ว 300,338 บาร์เรลต่อวัน บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปีนี้ที่ 72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่จะรักษาต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ให้อยู่ระดับ 31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ในช่วงไตรมาส 3/61 ต้นทุนต่อหน่วยจะพุ่งถึงระดับ 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม พร้อมเร่งผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) สำหรับโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 ทำกำไรสุทธิได้ 315 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากไตรมาสก่อน และจากที่ขาดทุนสุทธิในงวดปีก่อน หลังรับผลบวกราคาน้ำมันสูงขึ้น และได้รับประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แม้ในงวดไตรมาสนี้จะมีผลขาดทุนจากการขายแหล่งมอนทารา 37 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม
PTTEP ระบุว่า สำหรับในไตรมาส 4/61 แนวโน้มราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบยังมีความผันผวนสูง โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 75-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยบวกด้านอุปทานที่ลดลงจากการที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายคว่ำบาตรอิหร่านทางด้านนิวเคลียร์ และคว่ำบาตรเวเนซุเอลาทางด้านการเงิน ส่งผลให้เวเนซูเอลาขาดแหล่งเงินทุนในการซ่อมแซมท่าเรือการส่งออกน้ำมันดิบ รวมไปถึงการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯที่ชะลอตัวเนื่องจากข้อจำกัดด้านท่อขนส่งน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนจากการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และกลุ่มประเทศนอกโอเปก (Non-OPEC) อย่างรัสเซียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อุปสงค์จากสภาพเศรษฐกิจในหลายประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว อีกทั้งประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดและกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก
สำหรับไตรมาส 4/61 คาดว่าสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาด โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากโครงการ LNG ในออสเตรเลียและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยของ LNG คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงฤดูหนาวในจีน และสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ราคา Asian Spot LNG สำหรับปี 2561 ตลาดคาดว่าจะเฉลี่ยที่ 7.6-10.3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่คาดว่าสภาวะ LNG ล้นตลาดจะเริ่มกลับเข้าสู่สมดุลหลังจากปี 2565
ทั้งนี้ ปตท.สผ. พยายามรักษาระดับการผลิตของแต่ละโครงการและด้วยปริมาณการขายที่สูงขึ้นตามสัดส่วนของโครงการบงกชที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยของทั้งปี 2561 จะรักษาระดับประมาณ 310,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของทั้งปี 2561 จะอยู่ที่ประมาณ 6.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2561 ที่ 72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ปตท.สผ. คาดว่าต้นทุนต่อหน่วยสำหรับทั้งปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าในไตรมาส 3/61 ต้นทุนต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลจากค่าภาคหลวงที่ปรับตัวตามราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ย และค่าเสื่อมราคาที่ปรับตัวขึ้นจากการซื้อสัดส่วนเพิ่มเติมในโครงการบงกช รวมทั้งการรับรู้สินทรัพย์พร้อมใช้งานเพิ่มขึ้นจากโครงการเอส 1
ส่วนในไตรมาส 3/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 315 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับ 113 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/61 และจากขาดทุนสุทธิ 264 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาส 3/60 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักเป็นผลจากผลประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ระหว่างไตรมาส ในส่วนของกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 292 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลบวกต่อราคาขายเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บวกกับปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 304,940 บาร์เรลต่อวัน จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของโครงการบงกช
ขณะที่กำไรที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/60 นั้น เนื่องจากในงวดปีก่อนมีการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ 558 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/61 มีการรับรู้ขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ (แหล่งมอนทารา) 37 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทยังมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมรับโอกาสการลงทุนต่าง ๆ สะท้อนผ่านความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ 2,264 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ร้อยละ 73 สำหรับสถานะการเงินของบริษัท ณ สิ้นไตรมาส 3/61 มีสินทรัพย์รวม 19,210 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นส่วนของเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น รวมทั้งสิ้น 3,804 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 7,433 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 1,947 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนของผู้ถือหุ้น 11,777 ล้านเหรียญสหรัฐ
ณ สิ้นไตรมาส 3/61 มีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวม 40 โครงการใน 11 ประเทศ
PTTEP ระบุอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการในประเทศไทยนั้น บริษัทได้ทำการยื่นประมูลเพื่อขอรับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการแหล่งบงกช รวมทั้งแหล่งเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการประมูลภายในปลายปี 2561 ,โครงการเอส 1 ได้ทำการขุดเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต และแหล่งอุบลภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4 อยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา โดยคาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตของโครงการสำหรับน้ำมันดิบที่ 25,000 บาร์เรลต่อวันและก๊าซธรรมชาติที่ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ประมาณ 8,300 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน)
สำหรับโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาดใหญ่ อยู่ในระหว่างการดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Sale and Purchase Agreement) ระยะยาวกับผู้ซื้อรายต่าง ๆ โดยได้มีการลงนามเพิ่มในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวกับบริษัท โทโฮกุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ ในปริมาณ 280,000 ตันต่อปี นอกเหนือจากที่มีการลงนามกับบริษัท เอเล็กทริซิเต้ เดอ ฟรองซ์ หรือ EDF รวมทั้งเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance กับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย ในครึ่งแรกของปี 2562 โดยคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิต 12 ล้านตันต่อปี
ขณะเดียวกันก็จะเร่งรัดโครงการที่รอการพัฒนาเพื่อผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย นอกเหนือจากโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วันแล้ว ยังมีโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และโครงการเวียดนาม 52/97 และแหล่งอุบลภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4 ส่วนโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในแคนาดา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการดำเนินแผนกลยุทธ์ในการเน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์และมีความเสี่ยงต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนผ่านความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแหล่งบงกชซึ่งเป็นโครงการหลักของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ปริมาณการขายและกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทันที
"เรายังคงมุ่งมั่นในการมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ และขยายการลงทุนในแหล่งสำรวจปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูง ทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้ง ปรับตัวเพื่อรับมือกับภาพธุรกิจพลังงานที่มีความท้าทายทางธุรกิจที่ด้วยแนวทาง Transformation เพื่อให้องค์กรมีความพร้อม และเดินหน้าต่อยอด การลงทุน เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ E&P ที่มีตลาดรองรับ เช่น Gas to Power ในขณะเดียวกันก็ศึกษาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และพลังงานทางเลือก"นายพงศธร กล่าว