บมจ.อัคคีปราการ (AKP) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้ (25 ม.ค.) อนุมัติการลงทุนจำนวน 193.71 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นสามัญ 9.75% ในบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (ETC) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ (MW) ในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.62
สำหรับโรงไฟฟ้าดังกล่าว เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อวันที่ 9 มี.ค.60 มีสัญญาผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 8.0 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี นอกจากนี้ ETC ยังมีบริษัทในเครือจำนวน 2 แห่งที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (AVA) มีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 4.0 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าในปริมาณพลัง ไฟฟ้าสูงสุด 3.0 เมกะวัตต์ให้กับ กฟภ. เป็นระยะเวลา 20 ปี
บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด (RH) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 7.0 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 5.5 เมกะวัตต์ ให้กับ กฟภ. เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยคาดว่าทั้งสองโครงการจะเริ่ม COD ได้ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.62
นอกจากนั้น ETC ยังมีบริษัทย่อยอีกจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (EEC) ประกอบธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร (Integrated EPC) และบริหารงานและซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (Operations & Maintenance : O&M) โดยให้บริการกับโรงไฟฟ้าภายในกลุ่มบริษัทของ ETC เป็นหลัก
ปัจจุบัน ETC มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือบมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ถือหุ้นในสัดส่วน 60%
AKP ระบุว่า การเข้าซื้อหุ้นใน ETC ครั้งนี้จะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในการลงทุน ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าของ ETC เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ขยะอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนในการลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน โดยการลงทุนครั้งนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของบริษัท ในการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคต โดยมี ETC เป็นบริษัทแกนนำ
ขณะที่สัดส่วนของการลงทุนดังกล่าวมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับกระแสเงินสดและสภาพคล่องของบริษัทในปัจจุบัน โดยบริษัทไม่ต้องมีภาระหนี้ใดๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากระยะเวลาการก่อสร้างและการดำเนินงานได้ในระดับหนึ่ง จึงทำให้บริษัทสามารถขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่ฐานธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้และฐานกำไรได้เพิ่มขึ้น และได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากสถาบันการเงิน