นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณขายในปี 62 อยู่ที่ 3.18 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยคาดปริมาณการขายเฉลี่ยของไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 3.09 แสนบาร์เรล/วัน จากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการบงกชตั้งแต่กลางปี 61 และพยายามรักษาระดับการผลิตของโครงการในประเทศไทย
ส่วนราคาขาย บริษัทคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-12 เดือน ซึ่งบริษัทคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของไตรมาส 1/62 และทั้งปี 62 จะอยู่ที่ประมาณ 6.8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
บริษัทยังคาดว่าในไตรมาส 1/62 และปี 62 จะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ในปี 62 คาดอยู่ที่ 70-75%ของรายได้จากการขาย
"ตั้งแต่ปีนี้ จะเห็น ปตท.สผ. เดินหน้าเชิงรุกมากขึ้น อาทิ ล่าสุดบริษัทได้รับสัมปทานแปลงสำรวจปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง 2 แปลงในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งทำให้ ปตท.สผ. ได้เข้าไปลงทุนในตะวันออกกลางซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนอีกครั้ง รวมทั้ง เป็นโอกาสให้เราได้ร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานระดับโลก สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท.สผ. Energy Partner of Choice ที่มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย"นายพงศธร กล่าว
นายพงศธร กล่าวต่อว่า ปตท.สผ. จะเร่งผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในโครงการหลักที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา โดยเฉพาะโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนได้ตามแผนภายในครึ่งแรกของปี 62 นี้ นอกจากนั้น จะเร่งรัดกิจกรรมการสำรวจในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและมาเลเซีย รวมทั้งมองหาโอกาสเข้าลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตและเพิ่มปริมาณสำรองให้กับบริษัทได้ในอนาคต
สำหรับแหล่งบงกชและเอราวัณในอ่าวไทยนั้น หลังจากกระทรวงพลังงานประกาศให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งเมื่อเดือน ธ.ค.61 ที่ผ่านมา ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างรอการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อเริ่มดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ ที่วางไว้ในการรักษาปริมาณการผลิตของทั้งสองแหล่งตามแผนงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
ขณะที่ ปตท.สผ.ชี้แจงผลประกอบการปี 61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 36,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89% จาก 594 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 20,579 ล้านบาทในปี 60 โดยหลักจากปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงขึ้น พร้อมลงทุนตามแผนกลยุทธ์ ผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายของโครงการหลัก เร่งกิจกรรมสำรวจเพื่อเพิ่มปริมาณปิโตรเลียมสำรอง และมุ่งลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง
กำไรสุทธิในปี 61 ที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยหลักเป็นผลมาจากปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.05 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน จาก 2.99 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วันในปี 60 ซึ่งมาจากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเติม 22.2222% ในโครงการบงกช ทำให้ ปตท.สผ.มีสัดส่วนการลงทุนรวม 66.6667% ทำให้ปริมาณการขายและกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มิ.ย.61 สำหรับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก มาอยู่ที่ 46.66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 19% จาก 39.20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 60
สำหรับรายได้รวมอยู่ที่ 5,459 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 176,687 ล้านบาท และมีรายจ่ายและค่าใช้จ่ายทางภาษีรวมทั้งสิ้นที่ 4,339 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 140,481 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้นทุนต่อหน่วยในปีที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 31.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยเป็นผลจากค่าภาคหลวงที่ปรับตัวตามรายได้จาการขาย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของโครงการบงกช
อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. ยังคงมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยในปีที่ผ่านมามีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน จำนวน 3,276 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 106,058 ล้านบาท และมี EBITDA Margin ที่ 73%