บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯและบริษัทย่อย ประจำปี 2561 ขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 11,625 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.33 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2,107 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท และ ขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 2,856 ล้านบาท
แม้รายได้รวม จำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท (3.9%) แต่ค่าใช้จ่ายรวม เพิ่มขึ้น 10.3% มาที่ 208,558 ล้านบาท เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 19.7% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% ซึ่งแม้จะมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนก็ตาม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 7.3% สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินสุทธิ ลดลง 4.7% จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องในปีก่อน
นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อยรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 3,459 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 911 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบิน และผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้ส่วนเสียในเงินลงทุน (EBITDA) จำนวน 14,494 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 39.7% โดยมี EBITDA Margin เท่ากับ 7.3% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ 12.5%
ในปี 61 การบินไทย ได้รับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 5 ลำ และปลดระวางเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737-400 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ 31 ธ.ค.61 มีจำนวน 103 ลำ สูงกว่าสิ้นปีก่อน 3 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12 ชั่วโมง เท่ากับปีก่อน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.6% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 79.2% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1.0%
ในปี 62 การบินไทยมีแผนดำเนินการตามโครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัท ปี 62-67 ซึ่งเป็นการจัดหาเพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี
และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยการเร่งทำกำไรเพิ่มจากตลาดเชิงรุก และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น โครงการพัฒนาและเพิ่มรายได้เสริมนอกเนหือรายได้หลักผ่านช่องทาง Digital Marketing โครงการบริหารจัดการด้านการขายและการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน โครงการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกับ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด การปรับปรุงและพัฒนาการบริการครบวงจรเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ประกอบกับการมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายหลักที่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท เช่น การบริหารจัดการด้านน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
ส่วนราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงในปี 62 โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ยอยู่ที่ 81.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่ำกว่าปี 61