บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) แจ้งว่าเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ลต.) มีหนังสือถึงบลจ.บัวหลวง ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน ที่ได้ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) แจ้งอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี แต่กำหนดให้สามารถเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนได้ต่อเมื่อโครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการที่กองทุนฯจะลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิ ได้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว
อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการข้างต้น เป็นโครงการซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีปริมาณการซื้อขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 12 เมกะวัตต์ (MW) แต่ต่อมาภายหลังแขวงการทางได้มีหนังสือขอเวนคืนที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโครงการบางส่วนเพื่อทำการก่อสร้างถนนเป็นผลทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของทั้ง 2 โครงการข้างต้นใหม่ โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงบริษัทจึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำขอแก้ไขใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวและคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2562
สำหรับรายละเอียดและแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุน จะได้มีการพิจารณาร่วมกันกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทจะได้มีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ ของ SUPER เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท โดยมีบลจ.บัวหลวง ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนเป็นผู้ยื่นขอจัดตั้งกองทุน โดยเงินที่ได้รับจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำไปชำระหนี้ และรองรับการขยายงานทั้งในประเทศและต่างประเทศภายในอนาคต ซึ่งเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะขายหน่วยลงทุนได้ราวเดือนพ.ค.นี้ และน่าจะบันทึกรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯเข้ามาในช่วงไตรมาส 2/62
สำหรับสินทรัพย์ที่จะขายเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะมาจากสินทรัพย์ที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติก่อนหน้านี้ โดยได้มีการอนุมัติให้บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด (17AYH) และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (HPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER ทำรายการจำหน่ายสินทรัพย์ในโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 118 เมกะวัตต์ ให้กับกองทุนฯ รวมทั้งคณะกรรมการยังได้อนุมัติให้บริษัทฯทำธุรกรรมซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ในสัดส่วน 20-30%
"ผมตั้งใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อสร้างรายได้ และผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งกองทุน IFF เป็นหนึ่งในช่องทางในการขยายการลงทุนของเราในอนาคต รวมทั้งวางแผนในการลดหนี้ ที่มีอยู่ 3- 4 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเราและที่ปรึกษาทางการเงินเราทำงานเต็มที่ตามกรอบระยะเวลาที่มีอย่างคุ้มค่า เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนให้สำเร็จ"นายจอมทรัพย์ กล่าว
ในส่วนผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2562 คาดว่าการเติบโตมีแนวโน้มแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เติบโตแบบก้าวกระโดดจากปีก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มในโครงการต่าง ๆ สนับสนุน โดยเฉพาะในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์ม และวินด์ฟาร์ม ในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่ม COD ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้