บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2562 บริษัทสามารถสร้างรายได้และผลกำไรเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า พอร์ตบริษัทยังเติบโตเพิ่มขึ้นที่ 7% หากเทียบกับงวดระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน อีกทั้ง มีจำนวนการตัดหนี้สูญและตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง พร้อมกันนั้นรายได้หนี้สูญได้รับคืน ยังคงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่น้อยกว่าอัตราเติบโตของรายได้รวมที่สูงขึ้นมากกว่า ประกอบกับบริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงินได้ดี ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงเติบโต
บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีกำไรจำนวน 1,209 ล้านบาท โดยเกิดจากความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากสองธุรกิจหลัก คือธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อบุคคล มูลค่าหนี้สูญได้รับคืนยังคงเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการเงินรวมถึงหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมากกว่า ทำให้ภาพรวมบริษัทสามารถเติบโตในผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
รายได้รวมในไตรมาส 1/62 จำนวน 5,574 ล้านบาท เติบโต 9% (yoy) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ขยายตัว 3% (yoy) เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากทั้งลูกหนี้บัตรเครดิต และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่เพิ่มขึ้น 9%(yoy) และ 10%(yoy) ตามลำดับ จากรายได้ค่าธรรมเนียม(ไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เพิ่ม 8%(yoy) และจากหนี้สูญได้รับคืนเพิ่มขึ้น 13%
ในไตรมาสนี้ค่าใช้จ่ายการบริหารงานมีจำนวน 1,839 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นเพียง 2% (yoy) หลักเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคล เพิ่ม 4%(yoy) ค่าธรรมเนียมจ่าย เพิ่ม 1%(yoy) ขณะที่ค่าใช้จ่ายการตลาดลดลง 2% (yoy) เนื่องจากเป็นช่วงต้นปีเป็นช่วงที่ใช้งบการตลาดไม่มากเท่าไตรมาสอื่น สำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงที่ 2%(yoy) จากคุณภาพพอร์ตรวมของลูกหนี้ที่ดี ทำให้สำรองลดลง ประกอบกับบริษัทมีค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง 2% (yoy) เนื่องจากบริษัทออกหุ้นกู้ใหม่ในระยะเวลาที่ยาวขึ้นด้วย ต้นทุนเงินที่ต่ำกว่าหุ้นกู้เดิม ด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทลดลงอีกด้วย เป็นผลให้บริษัทสามารถทำกำไรสูงขึ้นกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรสะสม 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) เติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรม บริษัทมีอัตราเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ 9.4% เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมในรอบ 2 เดือนปี 62 เติบโตที่ 8.6% โดย KTC มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในเดือน ม.ค.และ ก.พ.อย่ที่ 8.6% และ 10.2% ตามลำดับ ส่วนในเดือนมี.ค. มีอัตราเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ 12.1% ทำให้ไตรมาสแรกปี 62 บริษัทมีอัตราเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 10.4%
ณ สิ้น มี.ค.62 บริษัทมีลูกหนี้ทั้งสิ้นรวม 75,209 ล้านบาท เติบโต 7% (yoy) แบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตรวมจำนวน 48,413 ล้านบาท (7%yoy) ) และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวมจำนวน 26,483 ล้านบาท (8% yoy) ) เมื่อหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวมทั้งสิ้นมูลค่า 5,359 ล้านบาท จะมียอดลูกหนี้สุทธิทั้งบริษัทรวมเท่ากับ 69,850 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 45,379 ล้านบาท และที่เหลือเป็นพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลสุทธิที่ 24,343 ล้านบาท
ณ สิ้น มี.ค.62 บริษัทมีจำนวนฐานสมาชิกทั้งสิ้น 3.3 ล้านบัญชี หรือเติบโต 8% จากปีก่อน แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,348,990 บัตร (เพิ่ม 6.4% yoy ) และสินเชื่อบุคคลจำนวน 967,059 บัญชี (เพิ่ม 12.8% yoy)
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง บริษัทยังคงมี NPL รวมอยู่ที่ 1.18% ลดลงหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 1.34% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ณ สิ้นปีที่มีค่า 1.14% โดย NPL ของบัตรเครดิต และ NPL ของสินเชื่อบุคคลในไตรมาส 1/62 มีค่าที่ 1.04% และ 0.78% ตามลำดับ
ในปี 62 บริษัทคาดการณ์การขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมที่ 15% พอร์ตลูกหนี้ขยายตัว 10% และรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปี 61 ที่ 1.1%
และบริษัทคาดว่าบริษัทจะมีอัตราเติบโตในกำไรสุทธิประมาณ 10% จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้แล้วบริษัทได้วางแนวทางการดำเนินงานสำหรับปี 62 ด้วยการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านธุรกิจนาโน-ฟิโกไฟแนนซ์ รวมทั้งธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน