ตลอดเวลากว่า 24 ปีที่ บมจ.โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC) โลดแล่นในวงการอุตสาหกรรมโลจิสติกส์แถวหน้าของเมืองไทยด้วยประสบการณ์ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ทำให้ SONIC ลงนามแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติจนก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 19 ต.ค.61 ซึ่งตามข้อมูล ณ สิ้นปี 61 บริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) 740 ล้านบาท
นายสันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SONIC เล่าให้"อินโฟเควสท์"ฟังว่า สมัยที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้มีโอกาสเข้ามาทำงานในวงการขนส่งระหว่างประเทศ แต่ในช่วงสมัครงานบริษัทเรือขนส่งสมัยนั้นไม่ค่อยเปิดรับคนทั่วไป การสมัครงานใช้วุฒิ ABAC มีบางบริษัทไม่กล้ารับเข้าทำงาน เพราะมีกระแสว่าทำงานไม่ทนบ้าง ทำแล้วก็จะออกไปหาเงินเดือนมากกว่าที่เดิมบ้าง ทำให้ตัดสินใจใช้วุฒิ ปวช.สมัครเป็นพนักงานด้วยเงินเดือนเริ่มต้น 2,500 บาท แต่ความที่อยากทำงานในวงการนี้ เพราะเห็นเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทำให้วันนี้สามารถเติบโตมาได้ไกล
"ช่วงเริ่มทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนไปซักพัก ก็หันมาทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยประสบการณ์ที่ทำงาน ก็ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ระดับล่างเลย มีโอกาสได้เรียนรู้งานทุกแผนกของบริษัท พอเริ่มเปิด SONIC ปี 38 เป็นบริษัทเอสเอ็มอี พนักงานมีทั้งหมด 6-7 คน ผลการดำเนินงานก็โตขึ้นทุกปี จากทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาทในวันนั้นมาเป็น 275 ล้านบาทในวันนี้"นายสันติสุข กล่าว
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือในปี 51 เกิดแนวคิดว่าบริษัทโลจิสติกส์ต้องเป็นรูปแบบครบวงจร จึงมุ่งลงทุนขยายกิจการจากในอดีตที่มีหัวลาก 3-4 คัน ปัจจุบันขึ้นมาเป็น 80 กว่าหัวลาก และหางลากเพิ่มเป็น 170 หางลาก ทำให้บริษัทมีความแตกต่างกับผู้ให้บริการทั่วไป เพราะบริษัทโลจิสติกส์ในไทยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก บริการไม่ครอบคลุมหลากหลาย ขณะที่ SONIC ยกระดับขึ้นมาเป็น one-stop service ขนส่งทั้งทางทะเล-บกและอากาศ มาตรฐานทัดเทียมกับบริษัทข้ามชาติ แต่เป็นราคาคนไทย
"ธุรกิจโลจิสติกส์ในอดีตมีเป็นหมื่นรายที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก และมีบางส่วนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศดูแล ซึ่งต้นทุนการบริหารจะสูงมาก ทำให้การที่ SONIC มีต้นทุนต่ำ แข่งขันด้านราคาได้ ทำให้ขยายกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น โดยวิกฤตปี 40 มองเป็นโอกาสในช่วงที่ผู้ประกอบการรายอื่นชะลอกิจกรรมโลจิสติกส์ แต่บริษัทกลับสามารถเติบโตหลายเท่าเหมือนกับช่วง Hamburger Crisis ปี 50-51 ซึ่งเป็นรอยต่อไปลงทุนที่ดินราคาถูก ถ้าไม่เกิดวิกฤตก็ยากที่จะซื้อได้ในราคานี้ บริษัทยังเป็นเอสเอ็มอีทุนไม่มาก ช่วงที่มีวิกฤตจึงมองเป็นโอกาสเสมอในการสร้างการเติบโต"
*5 ปีตั้งเป้าขึ้นแถวหน้าโลจิสติกส์อาเซียน-ไล่ซื้อกิจการ
เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น นายสันติสุข กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ SONIC ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีบทบาทแถวหน้าในอาเซียน ด้วยกลยุทธ์การเติบโตรูปแบบ Organic และแบบ Inorganic หรือเข้าซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานเครือข่ายการให้บริการครอบคลุม และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้ทัดเทียมกับผู้เล่นต่างชาติ
"บริษัทมีเป้าหมายก้าวขึ้นไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ภูมิภาคอาเซียน ยุทธ์ศาสตร์ที่กำลังจะก้าวไปสู่จุดนั้นคือเข้าไปซื้อกิจการ ที่มีฐานลูกค้าอยู่ในประเทศเหล่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากันหลายราย แต่บริษัทไม่ได้รีบร้อน ถ้าเกิดเป็นหุ้นส่วนดี, รายละเอียดดีลดี เป็นเช่นนั้นจะตัดสินใจซื้อกิจการเพื่อขยายฐานในอาเซียนทันที กรอบเวลาคงกำหนดไม่ได้ เพราะการแข่งขันเร็วมาก ปัจจัยที่มากระทบธุรกิจก็มีมากเช่นกัน ถ้าจะขยับก็ต้องมีความมั่นใจจริงๆ
ใน 3-5 ปีข้างหน้าตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% เป็นอย่างน้อย เป็นการเติบโตจาก Organic ส่วนถ้ามีดีลเติบโตแบบ Inorganic ก็จะเติบโตได้มากกว่านั้น ซึ่งรูปแบบการซื่อกิจการ จะต้องมาต่อยอด หรือเป็นการเติบโตไปด้วยกันในลักษณะวิน-วิน"
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลัก SONIC เป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล(Sea Freight) 65% ,ธุรกิจขนส่งทางบกภายในประเทศและการจัดการขนส่งสินค้าข้ามแดน (CROSS BORDER) 25% และการจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางอากาศ(Air Freight)และคลังสินค้ารวมกัน 10% ในอนาคตบริษัทต้องการผลักดันทุกธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกัน
ซีอีโอ SONIC ยอมรับว่า โครงสร้างรายได้บริษัทขณะนี้การให้บริการขนส่งทางอากาศยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง ดังนั้น ล่าสุดจึงอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหลายรายอาจเป็นการร่วมทุนหรือเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพทำกำไรที่ดีขึ้นในระยะถัดไป
นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้าลดต้นทุนต่อเนื่องด้วยการนำระบบไอทีมาให้บริการกับลูกค้า เพื่อทำให้ต้นทุนหลักด้านบุคลากรลดลง ส่วนปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ ซึ่งบริษัทก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน เพราะกำหนดราคาให้บริการเป็นเงินบาท แต่ต้นทุนบางส่วนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดผลกระทบขาดทุนทางบัญชี
สำหรับแผนการเติบโตแบบ Organic ผ่านการขยายกิจการ บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท ประกอบด้วย การใช้ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกกิจกรรมโลจิสติกส์ในพื้นที่กิ่งแก้ว เพื่อยกระดับให้มีความมาตรฐานมากขึ้น จากก่อนหน้านี้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้เช่าพื้นที่กับ บจ.ซีกัลล์ ซัพพลาย เชน มาใช้บริการศูนย์จัดเก็บสินค้า เพื่อขนส่งสินค้าผ่านชายแดนทางรถบรรทุก หรือ CROSS BORDER
สำหรับการให้บริการ CROSS BORDER ของบริษัทเองนั้น ในปีนี้มีแผนลงทุนซื้อหัวลากและหางลากเพิ่มอีก 10 กว่าคัน อีกทั้งอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนซื้อที่ดินในพื้นที่แหลมฉบังเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางโลจิสติกส์ของบริษัททั้งหมด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก
"ธุรกิจขนส่งทางบกของบริษัท นอกเหนือจากให้บริการลูกค้าในประเทศแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการให้บริการ CROSS BORDER ข้ามไปยังประเทศแถบ CLMV สินค้าที่ข้ามไปนั้นส่วนใหญ่มาจากลูกค้าฝั่งแหลมฉบัง ซึ่งนับเป็นการต่อจิ๊กซอกันเพื่อให้บริการครบทุกจุด ปกติลูกค้าใช้ CROSS BORDER เส้นทางกรุงเทพ-พนมเปญอยู่แล้ว ซึ่งปัญหาธุรกิจ CROSS BORDER นั้น ออเดอร์ส่วนมากเป็นการขนส่งสินค้าขาออกนอกประเทศมากกว่า สินค้าขาเข้าจะน้อย ทำให้สูญเสียโอกาสต้นทุนการขนส่ง
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรแถบ CLMV เพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนการขนส่งในธุรกิจประเภทนี้ และยังมองหาโอกาสการขนส่งสินค้าในฝั่งจีน ที่มีการขนส่งสินค้าออกมาเป็นปริมาณมาก ล่าสุดเจรจาพันธมิตรเพื่อขนส่งจากจีนมาเวียดนาม ลาวและเข้ามาในไทย จะช่วยแก้ไขปัญหาค่าเสียโอกาสและเพิ่มศักยภาพทำกำไรได้ดีขึ้นกว่าเดิม"
*โลจิสติกส์ยังเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอ
นายสันติสุข กล่าวว่า ท่ามกลางความกังวลกระแสเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว แต่มองว่าธุรกิจโลจิสติกส์ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เพราะการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศยังต้องดำเนินต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เมืองไทยบางช่วงการค้าระหว่างประเทศอาจหดตัวไปบ้าง แต่ภาพรวมตลอดทั้งปียังสามารถเติบโตได้
อีกทั้งตลาดโลจิสติกส์มีมูลค่ามหาศาลและใหญ่มาก จนทำให้มีกลุ่มทุนหลายรายต้องการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติลูกค้าบริษัทไม่ได้ลดลง แม้ยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่บางอุตสาหกรรมก็ดีขึ้นด้วยซ้ำ ลูกค้าบริษัทมีกระจายหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งส่งออกและนำเข้า
*SONIC ย้ำพื้นฐานเป็นของจริง แต่ราคาหุ้นอยู่เหนือการควบคุม
"ในช่วงที่เข้าตลาดฯ บรรยากาศการลงทุนไม่ค่อยสดใส ผู้ประกอบการที่ระดมทุนไอพีโอช่วงหลังนี้ก็ได้รับผลกระทบกันหมด แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน บริษัทยังยืนยันว่าผลประกอบการสามารถเติบโตได้ตามเป้ามาตลอด ถ้าเปรียบเทียบมูลค่าถูกแพงผ่าน P/E กับผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน P/E ของ SONIC ยังต่ำที่สุด และหุ้น SONIC ยังไม่เคยขึ้นไปสูงมาก ดังนั้นราคาหุ้นตรงนี้ เป็นช่วงที่ดีที่สุดแล้วสำหรับนักลงทุน
ในแง่ปัจจัยพื้นฐานผู้บริหารมั่นใจว่าหุ้น SONIC เป็นของจริงแน่นอน ซึ่งราคาหุ้นเป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุม ส่วนการนำเงินไปลงทุนปีนี้ จะกระทบปันผลหรือไม่นั้น ยืนยันว่าตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท มีความพยายามจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นทุกปี ปีที่แล้วในเดือน พ.ย. หลังเข้าตลาดฯก็เพิ่งจะปันผลไป ผลตอบแทนประมาณ 3.44%
ปีนี้บริษัทก็เลือกลงทุนบางส่วนเท่าที่จำเป็นต่อการขยายกิจการและให้บริการลูกค้าก่อน ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะมีผลตอบแทนกลับมา แต่ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้จากเงินทุนหมุนเวียนที่ได้จากไอพีโอ บริษัทก็ทำให้งอกเงยมาได้ทันที เช่น ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น รองรับการให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น เป็นต้น"นายสันติสุข ระบุถึงประเด็นราคาหุ้น SONIC ในปัจจุบันยังต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ 1.95 บาท
https://youtu.be/dPc_UCQtQFA