บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) และบมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) ผู้ร่วมลงทุนในบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEPT) ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ (MW) ที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมา แจ้งว่าการพัฒนาโครงการก่อสร้างและจัดหาอุปกรณ์แล้วเสร็จประมาณ 91.63%
นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2562 ทางหน่วยงาน Power Transmission and System Control (DPTSC) ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานและไฟฟ้า (Ministry of Electricity and Energy: MOEE) กำลังทดสอบระบบ (ก่อนใช้แรงดันจริง) (Cold Commissioning) ซึ่งหลังจากที่การทดสอบดังกล่าวโดย MOEE และผู้รับซื้อไฟฟ้า (Electric Power Generation Enterprise: EPGE) เสร็จสิ้น คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ของเฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ได้ภายในไตรมาส 2/62 ล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะ COD ไม่เกินสิ้นเดือน ม.ค.62
สำหรับการเริ่ม COD ของเฟสที่ 2 , 3 และ 4 ทางโครงการมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 360 วันนับจากวัน COD ของแต่ละเฟสตามลำดับ
นอกจากนี้ ECF แจ้งเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทยังต้องชำระเงินเพิ่มทุนใน GEPT จำนวน 20.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายหุ้น (Share Purchase Agreement) โดยจะมีการทยอยชำระเมื่อ GEPT เรียกเพิ่มทุนจดทะเบียนในแต่ละเฟสเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าให้ครบทั้ง 4 เฟส โดยการเรียกเพิ่มทุนของแต่ละเฟสจะดำเนินการเมื่อแต่ละเฟสเริ่ม COD เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าลงทุนโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 20% ผ่านบริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะบริษัทย่อย ภายหลังจากเริ่ม COD ในไตรมาส 2/62 แล้วบริษัทจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที
อนึ่ง GEPT ได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 USD / kWh แบ่งเป็น 4 ระยะเวลาก่อสร้าง โดย 3 ระยะแรกมีขนาดอยู่ที่ราว 50 MW ระยะสุดท้าย 70 MW ขนาดพื้นที่รวมโครงการ 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อมีการผลิตไฟแล้วจะขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE), กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 217,256 ครัวเรือน สอดคล้องกับความปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.7 ต่อปี อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของเมียนมาร์มีเพียงแค่ 34% ณ ปี 58 คาดว่าการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อให้การเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนที่อัตราการเติบโตดังกล่าว จะทำให้การเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึง 87% ภายในปี 73 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมาร์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้วจำนวน 5,134 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 61 ถึง 2564 อีก 996 MW
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบู ยังเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมามีน้อยมากโดยใช้ระบบพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าหากเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 154,586,250 กิโลกรัม ต้องใช้ต้นไม้จำนวน 6,825,000,000 ต้น เพื่อดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบู ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์