บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. คาดการณ์ปริมาณการขายปิโตรเลียมในไตรมาส 2/62 อยู่ที่ราว 3.3 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.19 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 1/62 และทั้งปี 62 คาดการณ์ปริมาณขายที่ราว 3.21 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นผลจากสัดส่วนการลงทุนเพิ่มในโครงการบงกชตั้งแต่กลางปี 61 โดยยังไม่นับรวมการเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 2/62
ขณะที่คาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในไตรมาส 2/62 และทั้งปี 62 ที่ประมาณ 6.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และคาดการณ์ต้นทุนต่อหน่วย ในไตรมาส 2/62 ที่ประมาณ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และทั้งปี 62 ที่ราว 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยวางเป้าหมายอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ของปี 62 ที่ 70-75% ของรายได้จากการขาย บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 62 ที่ 66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับปัจจัยอื่นที่สำคัญที่กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต ได้แก่ กฎระเบียบใหม่เรื่อง IMO 2020 จากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ที่มีมติให้จำกัดปริมาณซัลเฟอร์ (Sulphur) ในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเดินเรือขนส่งระหว่างประเทศ ที่ระดับไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 โดยคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเตาที่มีปริมาณซัลเฟอร์สูง (High Sulphur Fuel Oil) ในน้ำมันเชี้อเพลิงเดินเรือปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญและมีผลให้ราคาน้ำมันเตาปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีการผูกสูตรราคาก๊าซกับราคาน้ำมันเตา จึงเป็นความเสี่ยงที่ราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. อาจจะลดลงเนื่องจากกฎระเบียบใหม่ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะไม่รุนแรง เนื่องจากโครงสร้างราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ.ผูกกับราคาน้ำมันส่วนหนึ่งและย้อนหลังประมาณ 6-12 เดือน นอกจากนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการเจรจาปรับสูตรก๊าซธรรมชาติกับผู้ซื้อ และได้มีการพิจารณาและเริ่มทำประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันเตา สำหรับในปี 65 เป็นต้นไป บริษัทคาดว่าผลกระทบนี้จะลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติของแหล่งบงกชและเอราวัณภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตได้ผูกสูตรกับน้ำมันดูไบแทนการผูกสูตรกับราคาน้ำมันเตา
การประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 50) พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562 ในเดือนเม.ย.62 มีผลให้บริษัทสามารถคำนวณภาษีเงินได้ด้วยสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน (Functional Currency) ที่ไม่ใช่สกุลบาท ซึ่งช่วยลดความผันผวนของงบการเงินจากความแตกต่างระหว่างสกุลเงินที่ใช้ในการบันทึกบัญชีและที่ใช้ในการคำนวณภาษี โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี 2562 เมื่อได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
PTTEP ระบุอีกว่า สำหรับแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ มองว่านักลงทุนต้องการถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย (เงินเหรียญสหรัฐ หรือ เยน) จากการประกาศเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ว่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าตามปัจจัยลบในตลาดโลก อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ยังคงต้องติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาท ได้แก่ ประเด็นสงครามการค้าที่เริ่มคลี่คลายลง จากความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ใกล้จะบรรลุข้อตกลง
ทั้งนี้ ผลประกอบการของ ปตท.สผ. จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ในรูปของภาษีเงินได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของสกุลเงินที่ใช้ในการยื่นภาษีกับสกุลเงินที่ใช้ในการบันทึกบัญชี โดยส่วนใหญ่จะไม่มีผลต่อกระแสเงินสดในการดำเนินงาน สำหรับอัตราดอกเบี้ยตามภาวะตลาดนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อภาระดอกเบี้ยของบริษัทเนื่องจากหุ้นกู้ของบริษัทปัจจุบันเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั้งหมด