บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค ระบุว่าในปี 2562 ดีแทคจะให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงข่าย และประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าให้ดีขึ้น รวมทั้งจะสร้างสรรค์ข้อเสนอและให้บริการที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากขึ้น นอกจากนี้จะพัฒนาแบรนด์ดีแทคให้แข็งแกร่งขึ้น และนำเสนอคุณค่าของแบรนด์ให้ลูกค้ารับรู้ โดยบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในปี 2562 ในช่วง 13,000 ถึง 15,000 ล้านบาท โดยมีความปรารถนาที่จะกลับมาเติบโต พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 1,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่เพิ่มขึ้นถูกชดเชยบางส่วนจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงอย่างมากของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากการลดลงของ EBITDA
โดยในไตรมาส 1/62 บริษัทมีรายได้รวม 19,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% จากไตรมาสก่อน และ 2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากรายได้การดำเนินงานอื่น ซึ่งเป็นรายได้จากบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ตามสัญญาเช่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทาน และค่าเช่าเครือข่าย 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) จากบมจ.ทีโอที (TOT) อย่างไรก็ตามรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ลดลง 1% จากไตรมาสก่อน และ 5.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 15,123 ล้านบาท จากการลดลงของรายได้จากลูกค้าระบบเติมเงิน และรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากบริการทดแทนและการแข่งขัน นอกจากนี้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการคอนเทนต์ (CPA services) ภายนอกก็เป้นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการให้บริการ
ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย อยู่ที่ 10,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 4.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน การเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมีสาเหตุหลักมาจกาการเพิ่มขึ้นของค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800MHz และ 900MHz และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการโรมมิ่งบนเครือข่าย 2300MHz ของ TOT ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลง
สำหรับต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของต้นทุนค่าธรรมเนียม และค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800MHz และ 900MHz ค่าเช่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานที่จ่ายให้กับ CAT ภายใต้สัญญาเช่า และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการโรมมิ่งบนเครือข่าย 2300MHz ของ TOT
ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 3,719 ล้านบาท ลดลง 6.5% จากไตรมาสก่อน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับการระงับข้อพิพาทกับ CAT ที่บันทึกในไตรมาส 4/61) แต่เพิ่มขึ้น 2.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการลดลงจากไตรมาสก่อนเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด และการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารค่อนข้างคงที่จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ณ สิ้นไตรมาส 1/62 จำนวนผู้ใช้บริการรวมเท่ากับ 20.7 ล้านเลขหมาย ประมาณ 30% เป็นลูกค้าในระบบรายเดือน ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการย้ายฐานของผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน และแคมเปญสำหรับซื้อเครื่องโทรศัพท์ที่น่าสนใจ ขณะที่ฐานลูกค้าในระบบเติมเงินยังมีแนวโน้มลดลงจากการย้ายไปใช้งานในระบบรายเดือน นอกจากนี้ดีแทคจะเน้นการดึงลูกค้าในส่วนแรงงานต่างชาติกลับคืนมาด้วยการใช้กิจกรรมทางการตลาดในพื้นที่ที่ลูกค้าใช้งาน และลูกค้าในกลุ่มวัยรุ่นและผู้เล่นเกมด้วยการเป็นพันธมิตรกับผู้ใช้บริการเกมออนไลน์ รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) อยู่ที่ 242 บาท/เดือน ค่อนข้างคงที่ทั้งจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกันดีแทค มีจำนวนสถานีฐานอยู่ที่ 15,400 สถานี เพิ่มขึ้น 2,700 สถานีในช่วงไตรมาสนี้ ลูกค้าประมาณ 7.8 ล้านราย หรือ 76% ของฐานลูกค้า 4G ได้ใช้บริการบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300MHz ทั้งนี้ โครงข่ายโดยรวมของดีแทคครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA-CAPEX) สำหรับไตรมาส 1/62 กลับมาเป็นบวกที่ 1.7 พันล้านบาท แม้ว่ายังมีการดำเนินการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.3 เท่า และมีเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1/62 จำนวน 1.28 หมื่นล้านบาท
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปี 62 ดีแทคได้สร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อโครงข่ายดีแทคหลังจากสิ้นสุดระบบสัมปทาน ด้วยการขยายโครงข่ายครั้งใหญ่ในไตรมาสที่ 4/61 และต่อเนื่องมาในไตรมาส 1/62 โดยเริ่มที่จะเห็นผลในเชิงบวกแล้ว ในส่วนของการให้บริการในระบบรายเดือนยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้บริการในระบบเติมเงินยังคงต้องมีการปรับปรุง โดยจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าระบบรายเดือน และใช้วิธีการแบ่งกลุ่มการตลาด (segmentation approach) เพื่อดึงดูด และเข้าถึงลูกค้าเติมเงินให้กลับมาใช้ดีแทคอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนเล่นเกม
ด้านนายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงินของดีแทค กล่าวว่า แม้ว่าการการเติบโตของรายได้จะอยู่ภายใต้ความท้าทาย แต่ประสิทธิภาพการดำเนินงานยังคงดีอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 1/62 เป็นไตรมาสแรกที่ดีแทคดำเนินการภายใต้ระบบโครงสร้างต้นทุนใหม่ที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียม และค่าตัดจำหน่ายโครงข่ายภายใต้สัมปทานที่ต่ำลง แต่ค่าใช้จ่ายของค่าเช่ากับ CAT ค่าโรมมิ่งกับ TOT และค่าตัดจำหน่ายของใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 และ 1800MHz ได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามต้นทุนอื่น ๆ อันประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของโครงข่าย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ถูกควบคุมเป็นอย่างดี กระแสเงินสดจากการดำเนินงานกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้หลังจากการลงทุนด้านโครงข่ายครั้งใหญ่ในไตรมาส 4/61 สถานะทางการเงินของดีแทคยังคงแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น