STA เผย Q1/62 พลิกเป็นขาดทุน 627 ลบ.จากราคายางปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ-ขาดทุนเฮดจิ้งยาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 15, 2019 09:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) แจ้งว่า ในไตรมาส 1/62 มีผลขาดทุนสุทธิที่ 627.7 ล้านบาท เป็นผลกระทบระยะสั้นจากผลขาดทุนจากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับยางพารา และผลประกอบการที่อ่อนตัวของธุรกิจถุงมือยาง

ในไตรมาส 1/62 ทิศทางราคายางธรรมชาติ (NR) ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นมา โดยราคายางแท่ง TSR20 เฉลี่ยตลอดทั้งไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 139.4 cent/kg. ปรับเพิ่มขึ้น 10.0% จากไตรมาสก่อน และด้วยสถานการณ์ราคา NR ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ผู้บริโภค NR ส่วนใหญ่ชะลอหรือทยอยการสั่งซื้อ ส่งผลให้ปริมาณการขาย NR ของบริษัทฯ ในไตรมาสนี้ ลดลง 9.9% YoY และ 8.8% QoQ อยู่ที่ 289,984 ตัน ทำให้รายได้จากการขายของบริษัทฯ ปรับลดลง 13.8% YoY และ 11.3% QoQ อยู่ที่ 15,248.0 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปริมาณการขายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ของบริษัทฯ เติบโตได้ดีจากความต้องการใช้ถุงมือยางที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในอัตรา 26.2% YoY และ 2.4% QoQ ตามลำดับ ด้วยสถานการณ์ราคา NR ในตลาดโลกที่ปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวผสานกับต้นทุนวัตถุดิบในประเทศไทยและอินโดนีเซียที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของราคา NR ในตลาดโลก ประกอบกับการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และผลขาดทุนจากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับยางพารา จึงเป็นผลกระทบระยะสั้น ที่ทำให้การทำกำไรของบริษัทฯ ในไตรมาสนี้ลดลง และบันทึกผลขาดทุนสุทธิที่ 627.7 ล้านบาท

บริษัท แจ้งว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ มีพื้นที่สำหรับธุรกิจสวนยางพาราประมาณ 45,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีสัดส่วนสวนยางที่ปลูกไปแล้วทั้งสิ้น 89% บางส่วนเริ่มทยอยให้ผลผลิตตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ซึ่งได้ส่งผลดีต่อกลยุทธ์การสรรหาวัตถุดิบสำหรับธุรกิจกลางน้ำซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ ประมาณการว่ามี ต้นยางที่สามารถกรีดได้ราว 11% ของต้นยางที่ปลูกแล้วทั้งหมด จาก 3% ในปีก่อน อันจะส่งผลดีต่อกลยุทธ์การสรรหาวัตถุดิบสำหรับธุรกิจกลางน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัทฯ

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตทางวิศวกรรมอยู่ที่ 2.86 ล้านตันต่อปี จากโรงงานผลิตยางธรรมชาติทั้งสิ้นจำนวน 36 แห่ง แบ่งออกเป็น 32 แห่งในประเทศไทย 3 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย และ อีก 1 แห่งในประเทศเมียนมา โดยในปีนี้บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่นมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เป้าหมายในระยะยาวบริษัทฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อฐานลูกค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนขยายฐานลูกค้าใหม่ อาทิ ผู้ผลิตยางล้อจากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งโรงงานการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งผู้ผลิตยางล้อและผู้บริโภคน้ำยางข้นทั่วโลก เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย "ศรีตรัง20" หรือการมีปริมาณการขายคิดเป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณความต้องการยางธรรมชาติของโลก ในเวลาอันใกล้ (ปี 2561 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 10% )

ส่วนธุรกิจปลายน้ำ บริษัทตั้งเป้าติดอันดับผู้ผลิตถงมือยางทางการแพทย์และอุตสาหกรรม 1 ใน 3 ของโลก บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันและความได้เปรียบที่มีเหนือคู่แข่งในการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ คือการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบน้ำยางข้น ด้วยต้นทุน ปริมาณและคุณภาพที่เป็นเลิศ รวมถึงการรักษาไว้ซึ่งการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในทั่วทุกมุมโลก ทั้งสำหรับการบริโภคในทางการแพทย์และ ในเชิงไลฟ์สไตล์ โดยในปี 2561 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดแล้วกว่า 6% ของความต้องการบริโภคถุงมือยางทั่วโลก

ภายหลังจากการควบกิจการกับบมจ. ไทยกอง (TK) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงมือยางที่มีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดตรัง และมีกำลังการผลิตประมาณ 4,000 ล้านชิ้นต่อปีแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีกeลังการผลิตถุงมือยางทั้งสิ้นราว 21,200 ล้านชิ้นต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ถุงมือยางที่เติบโตในอัตรา 8-10% ต่อปี และ มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกในอนาคตอันใกล้ ในไตรมาส 1/62 STA มีสัดส่วนรายได้หลักจากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง 61.50% ถุงมือยาง 20% ยางแผ่นรมควัน 10.6% และ น้ำยางข้น 6.2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ