QTC ฝ่าวิกฤต"หม้อแปลงไฟฟ้าขาลง"โจทย์ใหม่ปั้นกำไร"ธุรกิจพลังงานทดแทน"พลิกฟื้นผลงานปีนี้ทำนิวไฮ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 17, 2019 08:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ใช้กลยุทธ์พลิกธุรกิจใหม่ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ภายหลังได้รับผลกระทบจากภาวะการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นรายได้หลัก ซึ่งกลยุทธ์การกระจายรายได้ในหลายธุรกิจ เป็นหนึ่งในแนวทางที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายรายนำมาใช้สร้างการเติบโตให้กับกิจการในระยะยาว

แต่ระหว่างทางที่บริษัทเริ่มเข้าไปลงทุนหลายโครงการที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า บางโครงการจำเป็นต้องถอนตัวจากแผนลงทุน หลังมองว่าผลตอบแทนอาจจะไม่คุ้มค่าลงทุน และล่าสุด QTC ประสบความสำเร็จกับการเข้าซื้อกิจการบริษัท คิว โซลาร์ เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่จากมูลค่ากิจการสูงเกินความเป็นจริง ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองการด้อยค่าเข้าไปในงบการเงิน เป็นผลกระทบเข้ามาซ้ำเติมนอกเหนือจากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ายังแย่ สะท้อนมายังผลประกอบการ QTC ในปี 59 ต้องขาดทุนสุทธิ 80 ล้านบาท และปี 60 มีผลขาดทุนสุทธิ 247 ล้านบาท

เช่นเดียวกับราคาหุ้น QTC ที่เคยสร้างความหวือหวาให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะในปี 59 ขึ้นมาจาก 5 บาทไปทำไฮแถวๆ 21.90 บาท เป็นไปตามแผนขยายกิจการธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหลายโครงการ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างทางบริษัทมีแผนเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) หลายราย มีวัตถุประสงค์นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในอนาคต ทำให้ล่าสุดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมกลุ่มครอบครัว "ตันธนสิน" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เฉือนเนื้อลดสัดส่วนหุ้นลงมาเหลือราว 7% แต่นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ยังคงดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ QTC เช่นเดิม ขณะที่กลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่สัญชาติ สปป.ลาว กลายเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนราว 30%

ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น QTC ส่งสัญญาณเป็นขาลงนับตั้งแต่ปลายปี 59 เป็นต้นมา เพราะผิดหวังผลประกอบการ แต่ล่าสุดผลประกอบการ QTC เริ่มส่งสัญญาณเติบโตโดดเด่นอีกในไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิเกือบ 80 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 42 ล้านบาท นับเป็นสัญญาณเชิงบวกว่าหุ้น QTC จะกลับมาสร้างการเติบโตได้รอบใหม่อีกครั้งหรือไม่

*ลุ้นกำไรสุทธิปี 62 โตทุบสถิติสูงสุดใหม่ หลังปรับโมเดลธุรกิจ

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร QTC เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผลประกอบการปี 62 มีโอกาสกำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง จากที่เคยทำไว้เมื่อปี 58 ที่มีกำไรสุทธิราว 120 ล้านบาท เพราะไตรมาส 1/62 บริษัทมีกำไรสุทธิเกือบ 80 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีผลการดำเนินงานที่ดี เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทปรับโมเดลธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ,ปริมาณงานที่มีมาร์จิ้นต่ำทยอยหมดไป

ประกอบกับธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้ารับรู้รายได้และกำไรเข้ามาอย่างมั่นคง ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจพิจารณากลับมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในรอบผลการดำเนินงานปี 62 หลังจากปี61 บริษัทงดจ่ายเงินปันผล

"แม้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทจะประสบผลขาดทุน แต่โครงสร้างธุรกิจไม่ได้รับความเสียหาย อยากให้ผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นว่าเงินทุกบาททุกสตางค์บริษัทคิดตลอดว่าจะตอบแทนอย่างไร โมเดลธุรกิจปรับเปลี่ยนไปเชื่อว่าต่อไปนี้ผลประกอบการบริษัทจะกลับมาดีขึ้นชัดเจนอีกครั้ง"

*ปัญหากระหน่ำกดดันผลประกอบการช่วง 2 ปีขาดทุนอ่วม แต่ฟ้าฝนกำลังจะผ่านไป

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานักลงทุนคงรู้ว่าบริษัทเกิดปัญหา เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆถูกชะลอ การแข่งขันราคาในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ารุนแรงมาก ในช่วงนั้นบริษัทเข้าไปแข่งขันราคาในงานประมูลด้วยการเสนอราคาต่ำ ซึ่งปรากฏว่าชนะประมูลได้งานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ประสบปัญหาต้องทำงานมาร์จิ้นต่ำ ยิ่งทำมากก็ยิ่งขาดทุน

ประกอบกับ ระยะเวลาในช่วงนั้นบริษัทมีแผนลงทุนในหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการมินบู ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเมียนมา สุดท้ายต้องยกเลิกการลงทุนไปเนื่องจากกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดหวัง ทำให้มีผลกระทบขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนซ้ำเติมเข้ามา

และขณะนั้นบริษัทได้เข้าไปซื้อกิจการบริษัท คิว โซลาร์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นายพูนพิพัฒน์ ยอมรับว่าเป็นการซื้อกิจการในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะไม่มีใครขายของถูก ทำให้บริษัทต้องมีการตั้งสำรองการด้อยค่าเกือบ 200 ล้านบาทส่งผลให้บริษัทขาดทุนอย่างมากในปี 60 และต่อเนื่องมาถึงปี 61

"แม้ว่าผลประกอบการโดยรวมขาดทุน แต่ธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าขาดทุนไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการบันทึกขาดทุนในธุรกิจอื่น แม้ว่าภาวะการแข่งขันราคาในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าจะรุนแรง แต่บริษัทพยายามกระจายฐานลูกค้า โดยหนีจากตลาดล่างมายังตลาดบนที่มุ่งเน้นสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ปรับกระบวนการผลิตต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าควบคู่ไปกับการลดต้นทุน เริ่มเห็นผลแล้วในไตรมาส 1/62 ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัท คิว โซลาร์ อย่างเต็มที่ สะท้อนจากงบการเงินไตรมาส 1/62 บริษัทมีกำไรทั้งในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานอย่างชัดเจน"

*แผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาวสรุปเร็วๆนี้

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าลุยต่อเพื่อขยายลงธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีพันธมิตรใน สปป.ลาวที่พยายามขยายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งกำลังศึกษารายละเอียดคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ บริษัทมองเป็นโอกาสสำคัญขยายกิจการเพื่อเสริมความมั่นคงของรายได้ในระยะยาว ให้เห็นการงอกเงยผลตอบแทนในช่วง 3-5 ปีนี้ อีกทั้ง หากสามารถเข้าไปลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว ได้สำเร็จ จะช่วยให้บริษัทต่อยอดขยายไปได้อีกหลายร้อยเมกะวัตต์ เพราะมีโอกาสลงทุนอีกหลายโครงการ

ปัจจุบัน บริษัทยึดนโยบายที่ค่อนข้าง Conservative ในแต่ละโครงการที่เข้าลงทุน ถ้าเสี่ยงมากเกินไปก็จะไม่ไปต่อ ต้องดูโครงการที่พร้อมที่สุดก่อน นโยบายหลักคือแต่ละโครงการต้องมีผลตอบแทนรูปของ IRR ไม่ต่ำกว่า 10% ในส่วนโครงการพลังงานทดแทนในประเทศมองว่าโอกาสลงทุนน้อย แม้มีผู้มาเสนอขายหลายราย แต่โครงการส่วนใหญ่มีผลตอบแทนไม่สูง จึงมองหาโอกาสในต่างประเทศเป็นหลัก

"โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่กระจายออกไป มองว่าเป็นข้อดีเพราะบริษัทเป็นมหาชนเต็มรูปแบบ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ถือรวมกัน 30% เป็นนักธุรกิจสัญชาติ สปป.ลาว นั้นคือเจ้าของเขื่อน ทำให้มีโอกาสเข้าร่วมศึกษาโครงการลงทุนใน สปป.ลาว โดยรูปแบบการลงทุนคาดเป็นลักษณะตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านการไฟฟ้าฝั่ง สปป.ลาว ทาง QTC จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นในโครงการนั้นๆ ซึ่งบริษัทคำนึงถึงราคาลงทุนเหมาะสม ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ที่สำคัญคือต้องไม่กระทบกระเทือนกับผู้ถือหุ้นรายย่อย"

สำหรับโครงการลงทุนในธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน บริษัทมีแนวทางใช้เงินในรูปของ "Project Finance" เป็นการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพราะมองเป็นข้อดีสถาบันการเงินช่วยกรองความเสี่ยงจากการลงทุนในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันระดับหนี้สินต่อทุนต่ำ (D/E) น้อยกว่า 1 เท่ามีศักยภาพขอสินเชื่อได้ ประกอบกับก่อนหน้านี้บริษัทเพิ่มทุน PP ทำให้มีกระแสเงินสดหลายร้อยล้านบาทเพียงพอขยายกิจการผู้ผลิตไฟฟ้าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

*รุกขยายฐานหม้อแปลงไฟฟ้าในต่างประเทศ-เล็งประมูลงานใหม่ในปท. 3,000 ล้านบาท

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทปรับกระบวนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้ได้รับงานในต่างประเทศ ปกติเคยส่งออกออสเตรเลียเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือญี่ปุ่น รองมาเป็นมาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันโครงสร้างได้เปลี่ยนไปญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักส่งออกมาได้ปริมาณมากที่สุด ในปี 61 สัดส่วนส่งออกขยับขึ้นมาเป็นกว่า 30% ของยอดขายรวม

บริษัทมองว่าธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าได้ปรับโมเดลธุรกิจถูกทางแล้ว เพราะตลาดต่างประเทศมีมาร์จิ้นที่ดีกว่าในประเทศมาก แต่สิ่งที่ต้องเน้นคือเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ โดยหม้อแปลงไฟฟ้าของ QTC ปัจจุบันนำเทคโนโลยีร่วมพัฒนา เช่น ประเภท Smart Transformer หรือ ระบบอัจฉริยะที่ติดตามการทำงานของหม้อแปลง โดยส่งต่อข้อมูลตัวแปรผ่านระบบ 3G และ 4G ทำให้ผู้ดูแลรักษาสามารถดูข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง และตลาดหม้อแปลง "SUPER LOW LOSS" กลุ่มลูกค้าประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจ

"เชื่อว่าภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน สานต่อนโยบายการลงทุนต่างๆ น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในมือกว่า 200-300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในปีนี้ ส่วนงานประมูลใหม่ๆคาดว่าจะออกมาอีกจำนวนมากทั้งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คาดมีมูลค่าโครงการรวมกันกว่า 3,000 ล้านบาท คาดหวังได้รับงานอย่างน้อยสัดส่วน 10% ของมูลค่างานประมูลทั้งหมด เชื่อว่ากระบวนการคัดสเปกที่ปรับเปลี่ยนไป จะทำให้บริษัทได้รับงานมีมาร์จิ้นที่ดีอย่างแน่นอน"

https://youtu.be/DS72BoDRXd8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ