นายชูเกียรติ ยงวงศ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์ (PERM) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปีนี้บริษัทได้จัดโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น จากการลงทุนและแผนขยายไปยังธุรกิจต้นน้ำ รองรับความต้องการของตลาด และเพิ่มฐานการเติบโตให้แข็งแกร่ง โดยล่าสุดให้บริษัทในกลุ่มเข้าลงทุนในโครงการผลิตเหล็กเคลือบสี (โครงการ Empower) กำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี มูลค่าลงทุน 1 พันล้านบาท เพื่อทดแทนการจัดซื้อจากผู้ผลิตรายอื่น หรือการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในไตรมาส 4/63
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ Empower จะอยู่ภายใต้บริษัท เอ็มพาวเวอร์สตีล จำกัด มีบริษัท ซันเทคสตีล จำกัด (Suntech) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 90% ร่วมกับบริษัท บริษัทแสงไทย เมทัลชีท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลังคาเมทัลชีทรายใหญ่ในประเทศ และนาย JASON THOMAS ELLIS อดีตประธานบริษัท บลูสโคปสตีล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลตลาดต่างประเทศ ถือหุ้นรวมกันไม่เกิน 10%
นายชูเกียรติ กล่าวว่า โครงการ Empower ปัจจุบันอยู่ระหว่างเริ่มก่อสร้างโรงงาน ซึ่งจะเริ่มจากการผลิตเหล็กเคลือบสี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กเคลือบสีที่จำหน่ายในประเทศไทยเพียง 2 ราย ทำให้บริษัทมองเห็นถึงโอกาสขยายการผลิตในส่วนนี้ เมื่อโครงการเปิดดำเนินการผลิตในช่วงไตรมาส 4/63 ก็คาดว่าในช่วงปี 64 ซึ่งเป็นปีแรกจะมีการผลิตระดับ 50,000 ตัน/ปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับการขายในประเทศสัดส่วน 90% และส่งออกไปขายในออสเตรเลียสัดส่วน 10%
โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานโครงการของภาครัฐ ที่ต้องใช้เหล็กที่มีมาตรฐานมอก. ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริษัทต้องการขยายงานเข้าไปมากขึ้น เพราะมองว่างานโครงการภาครัฐในอนาคตจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จก็เชื่อว่าจะมีการผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ออกมา ประกอบกับโอกาสของการก่อสร้างในทำเลเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต ทำให้กลุ่มลูกค้าในประเทศจะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้เหล็กเคลือบสีมากขึ้น
สำหรับเงินลงทุนในโครงการ Empower มาจากเงินลงทุนของ PERM ผ่าน Suntech จำนวน 400 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนเงินกู้ในการซื้อเครื่องจักร จากบริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ภายหลังจากโครงการ Empower เริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าจะใช้เงินทุนหมุนเวียนอีกไม่เกิน 688 ล้านบาท ซึ่งจะใช้การกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเป็นหลัก ซึ่งจากการประมาณการผลการดำเนินงานในอนาคต คาดว่า โครงการนี้จะให้ผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 15.31% และใช้เวลาในการคืนทุน (Payback period) ประมาณ 8 ปีเศษ นอกจากนี้บริษัทยังวางแผนการขยายไลน์การผลิตในโครงการ Empower เพื่อไปสู่ธุรกิจต้นน้ำมากขึ้น โดยมีความสนใจลงทุนเครื่องจักรผลิตเหล็กอลูซิงค์ ที่สามารถนำมาทดแทนการใช้สังกะสีบนหลังคาบ้านและโรงงาน ซึ่งเริ่มมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้บริษัทเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนเครื่องจักรผลิตเหล็กอลูซิงค์เพิ่มเติมในโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะเพิ่มไลน์การผลิตเหล็กอลูซิงค์เข้ามาในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 66 เพราะจะต้องศึกษาความต้องการของตลาดในการใช้เหล็กอลูซิงค์ให้มั่นใจก่อน และต้องการให้ไลน์การผลิตเหล็กเคลือบสีเดินเครื่องผลิตและสร้างยอดขายกลับคืนให้กลับบริษัทได้ก่อน จึงมีการลงทุนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ประเมินว่าการลงทุนเครื่องจักรผลิตเหล็กอลูซิงค์มีมูลค่าสูงราว 3 เท่า ของการลงทุนเครื่องจักรผลิตเหล็กเคลือบสี ซึ่งจะต้องใช้เงินกว่า 1.2 พันล้านบาท ในการสั่งซื้อและติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหล็กอลูซิงค์
นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 62 บริษัทมั่นใจรายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้กว่า 4.8 พันล้านบาท โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/62 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีผลการดำเนินงานสูงที่สุดของปี เพราะในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีการสั่งซื้อเหล็กเข้ามา เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ และในปีนี้บริษัทได้ขยายไปที่งานภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยการเข้าไปประมูลงาน ซึ่งคาดว่างานภาครัฐจะมีการออกมามากขึ้น รวมถึงการเบิกใช้งบประมาณลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังด้วย
ขณะที่ราคาเหล็กในปัจจุบันถือว่าฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กในจีน ส่งผลให้ซัพพลายในตลาดลดลง จากที่ราคาลดลงค่อนข้างแรงในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน ที่เป็นผลทำให้ผลการดำนเนินงานของบริษัทในปี 61 ขาดทุน และเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 1/62 ส่วนราคาเหล็กรีดร้อนในปัจจุบันอยู่ที่ 520 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มของราคาเหล็กยังคงมีความผันผวน เพราะยังได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนอยู่บ้าง แม้ว่าการควบคุมปริมาณเหล็กที่ดีของจีนจะทำให้ราคาเหล็กไม่ลดลงอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม และบริษัทยังคงต้องระมัดระวังการสต็อกเหล็กในแต่ละช่วง เพราะยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกที่มากระทบอยู่ตลอดเวลาด้วย