บลจ.ไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) แจ้งราคาเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ (Offering Price) ที่ 15.90 บาทต่อหน่วย จำนวนหน่วยลงทุนที่ออกและเสนอขายทั้งหมดไม่เกิน 1,050,000,000 หน่วย อัตราส่วนสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ 9.40 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่
วันที่เริ่มขึ้นเครื่องหมายเพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (XB) 2 สิงหาคม 2562
วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (Record Date) 5 สิงหาคม 2562
มูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่เสนอขายทั้งหมด ไม่เกิน 15,800,000,000 บาท
สำหรับวิธีการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธินั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ยกเว้นบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) และบริษัทย่อยของทรู (กลุ่มทรู) กำหนดวันจองซื้อตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ระหว่างเวลาทำการ จนถึงเวลา 15.30 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ของสำนักงานและสาขาของผู้แทนจำหน่ายหน่วยลงทุน จะต้องชำระราคาเงินค่าจองซื้อที่ราคาเสนอขาย 15.90 บาทต่อหน่วย
ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิประเภทนักลงทุนสถาบัน Custodian และกลุ่มทรู กำหนดวันที่จองซื้อ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ระหว่างเวลาทำการ จนถึงเวลา 15.30 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ของสำนักงานผู้แทนจำหน่ายหน่วยลงทุน จะต้องชำระราคาเงินค่าจองซื้อที่ราคาเสนอขาย 15.90 บาทต่อหน่วย
โดยกระบวนการการจองซื้อและการประกาศราคาเสนอขายเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ขัดต่อเกณฑ์การจัดสรรของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการ เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 กองทุน DIF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 150,289.60 ล้านบาท ส่วนทรัพย์สินใหม่ที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู ประกอบด้วย 1. การลงทุนในกรรมสิทธิ์เสาโทรคมนาคมรวม 788 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสา และเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้า จำนวนประมาณ 39 เสา ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
2. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (หรือประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างจังหวัด และ 3. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (หรือประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 3,414 กิโลเมตร (หรือประมาณ 147,209 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ
ทั้งนี้ การเข้าลงทุนทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะส่งผลให้กองทุนฯ มีทรัพย์สินที่กระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมรองรับการขยายตัวทางเทคโนโลยีสื่อสารและความต้องการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและไวไฟ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยคาดว่ากองทุนฯ จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เข้าลงทุนเพิ่มเติม โดยการให้เช่าระยะยาวแก่กลุ่มทรูซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของกองทุนฯ และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังสามารถนำทรัพย์สินส่วนที่เหลือไปจัดหาผลประโยชน์เพิ่มเติมจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กองทุนฯ และผู้ถือหน่วยลงทุน
ขณะที่ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน DIF ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) สามารถจ่ายเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยอย่างสม่ำเสมอ รวมต่อปีในอัตรา 0.956, 0.975 และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ โดยคาดว่าภายหลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่ดีแก่กองทุนฯ