นายเบอร์นาร์ด ตงโนง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) ชี้แจงผลการดำเนินการประจำปี 2550 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 จากงบการเงินรวม บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 930 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 2549 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,765 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.12 บาท ลดลงเทียบกับปีก่อน ซึ่งกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 7.81 บาท
บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการรวม 12,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,768 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปีที่แล้ว
กำไรของบริษัทฯที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบแร่ในสต๊อกมีราคาสูง และการใช้แร่จากเหมืองของบริษัทฯ ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการขอประทานบัตรใหม่ต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนหลายอย่าง
ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 35 ล้านบาทแม้ว่าจะมีปริมาณการขายโลหะสังกะสีเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและมีสัดส่วนการใช้แร่สังกะสีซิลิเกตจากเหมืองแม่สอดลดลง เนื่องจากได้หยุดการทำเหมืองชั่วคราวหลัง
สิ้นสุดอายุประทานบัตร
หลังจากราคาโลหะสังกะสีโลกได้ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2549 และได้ปรับลดลงในปี 2550 โดยมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3,242 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน ใกล้เคียงกับในปี 2549 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,275 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน และผลจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ราคาขายโลหะสังกะสีโดยเฉลี่ยเมื่อคิดเป็นเงินบาทลดลงเท่ากับ 112,465 บาทต่อเมตริกตันซึ่งต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา
ไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ราคาโลหะสังกะสีเฉลี่ยอยู่ที่ 2,623 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน ลดลงร้อยละ 38 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 4,204 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน เมื่อคิดเป็นเงินบาท ราคาขายลดลงร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปริมาณการขายโลหะสังกะสีล่วงหน้าอยู่ที่ 2,475 เมตริกตัน ที่ราคา 67,373 บาทต่อเมตริกตัน ซึ่งจำนานเท่ากับในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550
ปริมาณความต้องการใช้โลหะสังกะสีในประเทศมีจำนวน 107,373 เมตริกตันลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2549 อย่างไรก็ตามในไตรมาสสุดท้ายของปี ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 3 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549
ผลของการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการขายโลหะสังกะสีรวมของบริษัทฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปี 2549 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 101,325 เมตริกตัน แต่ได้รับค่าพรีเมียมจากการขายเฉลี่ยลดลง อันเป็นผลมาจากการส่งออกและการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าโลหะสังกะสีในประเทศ อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 4 ปริมาณการขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยมีจำนวน 22,641 เมตริกตัน
ด้านการผลิตเหมืองแม่สอดได้หยุดการทำเหมืองชั่วคราวในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ผลผลิตจากเหมืองในไตรมาสสุดท้ายมีจำนวนเพียง 14,000 เมตริกตันแห้ง ลดลงกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตแร่จากเหมืองแม่สอดในปี 2550 มีจำนวน 149,000 เมตริกตันแห้ง ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2549
ในไตรมาสที่ 4 โรงถลุงสังกะสีผลิตโลหะสังกะสีจำนวน 25,868 เมตริกตัน ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยปริมาณการผลิตโลหะสังกะสีในปี 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 98,877 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2549
สัดส่วนปริมาณการใช้แร่สังกะสีซิลิเกตของโรงถลุงสังกะสี จังหวัดตากลดลงเหลือร้อยละ 22 ในไตรมาสที่ 4 โดยมีการใช้แร่สังกะสีซิลิเกตเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับร้อยละ 29 เทียบกับปีก่อนซึ่งมีสัดส่วนการใช้ร้อยละ 42
แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2551 บริษัทฯ คาดว่าตลาดโลหะสังกะสีในประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะตลาดในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงได้รับผลกระทบจากการผลิตแร่จากเหมืองแม่สอดที่ลดลง เนื่องจากใบอนุญาตประทานบัตรใหม่ล่าช้าและราคาวัตถุดิบแร่ที่ยังสูงอยู่
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการขอประทานบัตรเหมืองแม่สอดได้หยุดการทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2550 เป็นต้นมา
หลังจากสิ้นสุดอายุประทานบัตร ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ในเดือนตุลาคมและบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้ในเดือนมกราคมปีนี้ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามพรบ.แร่ กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะนี้การขอประทานบัตรใหม่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการออกใบอนุญาตประทานบัตร
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--